โควิดป่วนเอเปค 'ฮุนเซน' ป่วย 10 ผู้นำเสี่ยงติด ม็อบยื่น 5 สถานทูตบี้นายกฯไขก๊อก
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณี สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ติดเชื้อโควิด-19 ไม่เดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคว่า ตามกติกาแล้วเป็นการเชิญผู้นำเขตเศรษฐกิจโดยตรง ในการประชุมแบบนี้ วันนี้คือนายกฯฮุน เซน ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมเอเปคที่ประเทศไทย เนื่องจากติดเชื้อโควิดและไม่สบาย
“ผมตรวจบ่อยอยู่แล้ว มีการตรวจเองที่บ้านด้วย มีเจ้าหน้าที่มาตรวจให้ด้วย และวันไหนที่มีงานพิเศษก็จะมีการมาตรวจที่ทำเนียบรัฐบาล และเวลาอยู่ที่บ้านก็ตรวจเป็นประจำ หลังจากเดินทางกลับมาจากกัมพูชาในการประชุมสุดยอดอาเซียนก็ตรวจ และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังเป็นประธานเปิดนิทรรศการนำเสนอความสำเร็จ การขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ได้ตรวจอีกครั้ง ก็ยังโอเคอยู่” นายกฯกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 15 พฤศจิกายน ว่าติดโควิด-19 ขณะอยู่ที่เกาะบาหลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมจี 20 ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตรวจพบว่าติดโควิด-19 ทำให้สมเด็จฯฮุน เซน ต้องยกเลิกการเข้าร่วมประชุมเอเปคในฐานะแขกของเจ้าภาพไปด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผู้นำกัมพูชาจะมอบหมายให้ใครมาเข้าร่วมประชุมแทนหรือไม่
ล่าสุดมีรายงานว่า ทางการกัมพูชาจะไม่ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมเอเปค เนื่องจากคณะส่วนใหญ่ที่เดินทางร่วมไปจี 20 กับสมเด็จฯฮุน เซน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสมเด็จฯฮุน เซน ตรวจพบว่ามีผลโควิด-19 เป็นบวก ทำให้บรรดาผู้นำโลกจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากผู้นำหลายคนเพิ่งเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา เนื่องจากระหว่างการประชุมในกรุงพนมเปญ ผู้นำโลกได้จับมือ สวมกอด และพูดคุยกับสมเด็จฯฮุน เซน อย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้นำ 10 เขตเศรษฐกิจที่จะต้องเข้าร่วมประชุมเอเปคกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย ผู้นำออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายกลุ่มเคลื่อนไหว ราษฎรหยุด APEC 2022 เดินทางไปยื่นหนังสือถึง 5 สถานทูต ได้แก่ สถานเอคอัครราชทูต แคนาดา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, พรรคโดมปฏิวัติ, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มทะลุวัง, We Volunteer, Supporter Thailand (SPT), เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), กลุ่มทะลุแก๊ส
น.ส.ธนพร หรือ ไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวภายหลังยื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยว่า วันที่ 17 พฤศจิกายนนี้จะมีการชุมนุมใหญ่ เจอกันที่แยกอโศก เวลา 12.00 น.
ด้าน น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ สรุปว่าจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน และจุดยืนที่มีต่อการประชุมความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค มีข้อเรียกร้องสำคัญ อาทิ นายกฯต้องลาออก นักกิจกรรมตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาล