รีเซต

มัดรวมดรามา “เซฟกระทะฮ้าง” ไวรัลภาษี - ผ่อนมือถือไม่ได้ นำมาสู่เสียงวิจารณ์ในโซเชียล

มัดรวมดรามา “เซฟกระทะฮ้าง” ไวรัลภาษี - ผ่อนมือถือไม่ได้ นำมาสู่เสียงวิจารณ์ในโซเชียล
TNN ช่อง16
5 เมษายน 2568 ( 10:58 )
13

มัดรวมดรามา "เซฟกระทะฮ้าง" เกิดอะไรขึ้น กับอินฟลูฯ สายอาหารคนดัง กับปมวิจารณ์เรื่องภาษี - ผ่อนมือถือซัมซุง 

ในนาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก “เซฟกระทะฮ้าง” หรือ นายสมบูญ วรรณวงศ์ อินฟลูเอนเซอร์สายอาหารที่แจ้งเกิดจากคลิปการทำอาหารสไตล์บ้าน ๆ แต่แฝงเทคนิคระดับมืออาชีพ จนกลายเป็นไวรัลและสร้างรายได้สูงถึงหลักแสนต่อเดือน

แต่ล่าสุด “เซฟกระทะฮ้าง” กลายเป็นที่จับตาอีกครั้งในโลกออนไลน์ จากกระแสดรามาหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี การติดเครดิตบูโร และข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เซฟกระทะฮ้างบ่นเรื่องภาษี ความไม่เข้าใจในระบบ นำไปสู่เสียงวิจารณ์ในโซเชียล

ประเด็นร้อนเริ่มต้นเมื่อเซฟกระทะฮ้างโพสต์ข้อความลงโซเชียล หลังได้รับแจ้งจากสรรพากรว่าต้องชำระภาษีประมาณ 200,000 บาท โดยเขาโพสต์ระบายความรู้สึกว่า

“ทำคลิปแบบบ้านๆ สู้มากับลูกเมีย พอวันหนึ่งมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษี...ตอนผมลำบาก พวกคุณอยู่ไหน?”

ข้อความนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ทันที หลายคนมองว่าเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษีเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรตั้งคำถามเชิงตำหนิ
อย่างไรก็ตาม เซฟกระทะฮ้างได้ออกมาขอโทษและชี้แจงว่า เขาพร้อมจ่ายภาษีเต็ม 100% เพียงแต่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดเตรียมเอกสารและรอแจ้งยอดจากกรมสรรพากร เขายังระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างหักภาษีให้ ทำให้ยังไม่เข้าใจระบบการยื่นภาษีด้วยตนเองอย่างชัดเจน

ดรามาผ่อนมือถือไม่ได้ เพราะติดเครดิตบูโร

ดรามาถัดมาเกิดขึ้นจากคลิปที่เซฟกระทะฮ้างโพสต์ขณะเดินทางไปซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดัง แต่ถูกปฏิเสธการผ่อนชำระเพราะ “ติดเครดิตบูโร” เขาแสดงความไม่พอใจ และฝากคำถามตรงไปยัง “ผู้บริหารบริษัทมือถือ” ซึ่งสร้างความงุนงงในหมู่ชาวเน็ตว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ผลิตมือถือโดยตรง

หลังจากนั้นมีการเปิดเผยว่าเขาได้ซื้อโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวด้วย เงินสดทั้งหมด โดยไม่มีการผ่อนชำระแต่อย่างใด ซึ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงต้องตั้งประเด็นเช่นนั้นในโซเชียล เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของหลายคนต่อระบบ เครดิตบูโร และกระบวนการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ขายสินค้าโดยตรง ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวได้กราบขอโทษไปทางผู้บริหารแล้ว หลังจากเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น

ขุดภาพเก่า จนเกิดข้อสงสัยเรื่องการทำงานในต่างประเทศ

ประเด็นที่สามคือการที่ชาวเน็ตขุดภาพเก่าที่เซฟกระทะฮ้างเคยโพสต์ไว้ โดยมีการอ้างว่าเขาเคยทำงานเป็นเชฟในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และบรูไน

แต่กลับพบว่า บางภาพใช้ซ้ำกัน เพียงเปลี่ยนคำบรรยาย และยังมีข้อสังเกตเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่น่าจะผลิตในประเทศไทย เช่น ตู้แช่ “Lucky Star” หรือปากกา “Lancer” ทำให้เกิดคำถามว่า เขาเคยทำงานในต่างประเทศจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพประกอบที่สร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อความน่าสนใจ

สรุปบทเรียนจากกรณี “เซฟกระทะฮ้าง”

กรณีของ “เซฟกระทะฮ้าง” ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการรับมือกับชื่อเสียงในยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อบุคคลธรรมดากลายเป็นคนสาธารณะ ย่อมตกอยู่ภายใต้การจับตามองในทุกแง่มุม ทั้งพฤติกรรมส่วนตัวและความคิดเห็นที่แสดงออกต่อสาธารณะ ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาขอโทษอย่างจริงใจแล้ว 

ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนถึงผลกระทบของความโด่งดัง แต่ยังเผยให้เห็นถึง ช่องว่างด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษี การขอสินเชื่อ และเครดิตบูโร ซึ่งเชื่อได้ว่า ไม่ได้มีเพียงเซฟกระทะฮ้างคนเดียว ที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้

กรณีนี้จึงสามารถถอดเป็นบทเรียนสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการเรียนรู้เรื่องการเงินพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถวางแผนการเงินและรับผิดชอบภาระภาษีได้อย่างเหมาะสม


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง