รีเซต

MFC มองหุ้นไทยปี65ไปต่อ ชอบแบงก์-ธุรกิจบริหารหนี้

MFC มองหุ้นไทยปี65ไปต่อ ชอบแบงก์-ธุรกิจบริหารหนี้
ทันหุ้น
22 ธันวาคม 2564 ( 12:47 )
226

ข่าววันนี้ ทันหุ้น- MFC มองดัชนีหุ้นไทยปี 2565 กรอบ 1,780-1,800 จุด ธีมโดเมสติกส์-เปิดเมือง เล่นได้ต่อ มองแบงก์น่าสนใจหลังปรับโครงธุรกิจใหม่ ขณะที่ปีหน้า NPL สูงหนุนธุรกิจบริหารหนี้โตสดใส ส่วนกลุ่มอสังหา น่าสนฟื้นได้อีก และกลุ่มเทคโนโลยีที่อนาคตไกลตามเทรนด์โลก    

 

  นายชาคริต พืชพันธ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเอฟซี ให้มุมมองการลงทุนในปี 2565 ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจไม่ได้กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนมากเหมือนปีนี้และปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการกระจายวัคซีนให้คนทั่วโลกได้สูง ทำให้อัตราการเสียชีวิต และอัตราการรักษาที่โรงพยาบาลไม่มากเหมือนการระบาดในช่วงแรก 

 

“แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูง แต่ถ้าดูในแง่ของการเสียชีวิต และการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล กลับเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก สะท้อนว่าทั่วโลกจะเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป นั่นจึงทำให้ปีหน้าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ไทยภาครัฐมีแผนระดมมาตรการต่างๆ เพื่อออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นไทย”

 

ปี 65 ดัชนี 1,780-1,800 จุด

นายชาคริต  กล่าวต่อไปว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้ก็ปรับตัวขึ้นมาดีราวๆ 11% ซึ่งเทียบกับภูมิภาคเดียวกันก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งมุมมองหุ้นไทยสิ้นปีน่าจะระดับ 1,650 จุด และในปี 2565 น่าจะปรับตัวขึ้นไปได้ต่อ โดยมองกรอบที่ 1,780-1,800 จุด

 

“ขณะเดียวกัน คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้พี/อีที่ปัจจุบันมองว่าแพงก็จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น หลังกำไรภาคธุรกิจกลับมาเติบโต ซึ่งเรามองว่า ธีมหุ้นอิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic) และการเปิดเมือง (Reopening) ยังเป็นธีมที่เล่นต่อได้ในปี 2565”

 

จับตากลุ่มแบงก์

นายชาคริต  มองว่ากลุ่มธุรกิจการเงิน ทั้ง แบงก์-นอนแบงก์ จะกลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปี 2565 ส่วนหนึ่งก็รับอานิสงส์เทรนด์ขาขึ้นของดอกเบี้ย แต่อีกประเด็นคือการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะแบงก์ที่เห็นได้ชัดถึงการปรับตัว ทั้งการเข้าลงทุนในธุรกิจดิจิทัล ลงทุนธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโตในอนาคต การร่วมมือเพื่อพัฒนาธุรกิจ (Synergy) ซึ่งในปี 2565 คาดว่าจะยังคงเห็นการเปลี่ยนแปลง และปรับโครงสร้างทางธุรกิจแบงก์ต่อเนื่อง

 

กลุ่มบริหารจัดการหนี้เสีย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในปี 2565 นายชาคริต มองว่า หนี้เสียจำนวนมากในแบงก์จะถูกระบายออกมาให้กับบริษัทบริหารจัดการหนี้เพื่อให้แบงก์ไม่ต้องมีภาระการตั้งสำรองเพิ่ม ผลประโยชน์จึงไปตกกับกลุ่มธุรกิจข้างต้นที่จะมีรายได้ กำไรโตจากการบริหารหนี้  

 

นอกจากนี้มอง กลุ่มอสังหา มีความน่าสนใจ เพราะจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมากระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหากเทียบกับกลุ่มท่องเที่ยวที่ปรับตัวขึ้นรับข่าวเปิดเมืองไปก่อนหน้านี้แล้ว กลุ่มอสังหายังคงขึ้นไม่หากเทียบกับกลุ่มท่องเที่ยว  

 

นายชาคริต กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นเติบโต (Growth stock) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเทค โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้หุ้นกลุ่มนี้มีต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ามองในระยะยาว กลุ่มเทคโนโลยียังมีขีดความสามารถในการเติบโตที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจคราวด์ เทเลคอม เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป เป็นต้น

 

 อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ตลาดหุ้นไทยอาจไม่ได้เติบโตแรงเหมือนกับปี 2564 ที่มีการปรับฐานลงแรงตอนกลางปีที่ระดับ 900 จุด ก่อนปรับขึ้นจากระดับดังกล่าว มาที่ระดับ 1,600 จุด แต่ นายชาคริต ก็มองว่าหุ้นยังเป็นสินกทรัพย์ที่ MFC ให้น้ำหนักการลงทุนต่อในปี 2565 

 

แนะ 3 กองทุนเด่น

พร้อมทั้ง แนะนำ กองทุนหุ้นไทย ที่น่าสนใจของ MFC 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โฟกัส อิควิตี้ (M-FOCUS) มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย และ/หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือตลาดรองอื่นๆ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน ไม่เกิน 30 บริษัท

 

กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป (M-MIDSMAL) เน้นลงทุนในตราสารแห่งทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูงในระยะปานกลางถึงระยะยาว 

 

และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไฮ-ดิวิเดนด์ ฟันด์ (HI-DIV) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตรลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอมาโดยตลอด อย่างน้อย 3ปีย้อนหลัง และ/หรือมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลักทรัพย์เหล่านั้นยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูงในระยะปานกลางถึงระยะยาว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง