รีเซต

ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ลงนาม "โมเดล BCG" มุ่งพัฒนาโลกที่ยั่งยืน

ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ลงนาม "โมเดล BCG" มุ่งพัฒนาโลกที่ยั่งยืน
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2565 ( 13:26 )
78

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำเอเปคจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรอง ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 รวมทั้งได้ร่วมรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”  หรือ “Bangkok goals on BCG Economy” ซึ่งทั้งในช่วงระหว่างการประชุมฯ และระหว่างการหารือแบบทวิภาคี ผู้นำเอเปคฯ ได้กล่าวชื่นชมความริเริ่มที่ประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการประชุมฯครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโตของประเทศ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้อีกด้วย


ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ริเริ่มโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG ” มาขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในระยะเวลาประมาณ 2 ปี  สามารถเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยได้มีการนำเสนอในการประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้ง 4 เป้าหมาย 


ทั้งการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศการปลูกป่าโดยเอกชนและประชาชนโดยมีการจัดสรรคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่ปลูกป่า บำรุง อนุรักษ์ป่า โดยปี 2565 กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการปลูกป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกันจำนวน 4 แสนไร่   นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30  ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030


 การขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน  โดยกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้ว  40,319 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 63.1 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด อีกทั้งสถาบันการเงินมีโครงการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ BCG รวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาทจนถึงปี 2570 โดยเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565

       

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ  ส่งเสริมให้เกษตรลดใช้สารเคมีในการเกษตร ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชด้วยระบบโรงเรือนอัจฉริยะ หรือการนำระบบเกษตรแม่นยำ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ  50  คุณภาพของผลผลิตสูงขึ้น ลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรในการกำจัดแมลงลงได้ร้อยละ 50 และผลกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว


และการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์  โดยความร่วมมือรัฐและเอกชนภายใต้ชื่อ “PPP Plastic”  ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานเพื่อลดขยะในกลุ่มพลาสติกในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่เทศบาลระยองสามารถลดการหลุดรอดของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 50 


ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไม่ได้เหมาะสมต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นรูปแบบที่ประเทศสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปปรับใช้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ตามบริบทของประเทศตนเองและต่อโลกได้อีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง