รีเซต

เกินเยียวยา? อินเดียกับปัญหาข่มขืน...รุมโทรม-ฆาตกรรม เขย่าสังคมอีกครั้ง พร้อมสถิติ ผู้หญิงถูกข่มขืนทุก ๆ 17 นาที

เกินเยียวยา? อินเดียกับปัญหาข่มขืน...รุมโทรม-ฆาตกรรม เขย่าสังคมอีกครั้ง พร้อมสถิติ ผู้หญิงถูกข่มขืนทุก ๆ 17 นาที
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2564 ( 15:08 )
197

คดีนี้คล้ายคลึงกับคดีรุมโทรมอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายและฆ่านักศึกษาสาวในปี 2012 ซึ่งกระตุ้นให้ผู้หญิงหลายล้านคนทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วงกดดันให้รัฐบาลอินเดียบังคับใช้กฎหมายล่วงละเมิดทางเพศให้เข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น


รุมโทรมหญิงสาว ทุบตีจนเสียชีวิต


เฮมานต์ นากราเล ผู้บัญชาการตำรวจเมืองมุมไบ แถลงข่าวในวันเสาร์ที่ผ่านมา (11 กันยายน) ว่า พบหญิงสาววัย 34 ปี นอนหมดสติอยู่บนรถมินิบัสคันหนึ่ง ในย่านซากีนากา เธอถูกรุมโทรมและทำร้ายร่ายกายด้วยแท่งเหล็ก ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชาวดี และเบื้องต้นตอบสนองการรักษาเป็นอย่างดี แต่เสียชีวิตในวันเสาร์เนื่องจากบาดเจ็บสาหัส


ตำรวจจับกุมชายคนหนึ่ง ฐานต้องสงสัยข่มขืนและฆ่า หลังจากตรวจสอบภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด เขายังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และจะยังถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกจนถึงวันที่ 21 กันยายน


บัลวันต์ เดชมุข นายตำรวจประจำสถานีตำรวจเมืองซากีนากา กล่าวกับ CNN ว่า เหยื่อและผู้กระทำความผิดที่ถูกกล่าวหานั้น ต่างเป็นคนไร้บ้านทั้งคู่ หากพบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง ผู้ต้องสงสัยอาจถูกลงโทษประหารชีวิต


นิรภยา เหยื่อที่เปลี่ยนสังคมอินเดีย คือใคร?


โยกีตา ภยานา นักเคลื่อนไหวต่อต้านการข่มขืนและสิทธิสตรี กล่าว คดีข่มขืนในมุมไบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น “เขย่าประเทศอีกครั้ง” เพราะมันเป็นคดีที่ “คล้ายคลึงกันอย่างเหลือเชื่อ” กับเหตุการณ์รุมโทรมและฆาตกรรม “นิรภยา” นักศึกษาสาววัย 23 ปี ในกรุงนิวเดลี เมื่อปี 2012


จากบันทึกของศาลระบุว่า “นิรภยา” (Nirbhaya) นามแฝงที่ตั้งให้เหยื่อ ซึ่งหมายถึง “ความกล้าหาญ” เธอถูกรุมข่มขืนและทำร้ายด้วยแท่งเหล็กเช่นกัน และได้รับบาดเจ็บสาหัส


เธอต้องทนกับอาการบาดเจ็บอยู่นาน 2 สัปดาห์ก่อนเสียชีวิตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสิงคโปร์


การเสียชีวิตของเธอเรียกความสนใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย และการเอาจริงเอาจังกับคดีอาชญากรรมต่อผู้หญิงมากขึ้น


คดีนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในอินเดีย และทำให้มีผู้หญิงหลายล้านคนออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายล่วงละเมิดทางเพศให้เข้มข้นและเพิ่มโทษรุนแรงขึ้น


แต่สังคมอินเดีย เปลี่ยนไปจริงหรือ?


“หลังคดีของนิรภยา พวกเราก็พากันคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่เราก็ยังได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืนอยู่ทุกวัน ไม่มีวันไหนเลยที่เราไม่ได้ยินไม่ว่าจะไปแห่งไหนก็ตาม” ภยานา กล่าว


“ในฐานะที่เป็นนักเคลื่อนไหว เราผลักดันและตรวจสอบรัฐบาลและประเทศอย่างมาก แต่เมื่อเราได้ยินเรื่องความโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้ เราก็รู้สึกว่าหมดหนทางแล้วจริง ๆ ฉันไม่มีอะไรบรรยาย”


อุททว ตักเกเรย์ (Uddhav Thackeray) มุขมนตรีรัฐมหาราษฎระ ซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองเอก แสดงอาการสุดช็อกกับเหตุการณ์ “สะเทือนขวัญ” นี้


“อาชญากรรมชั่วร้าย ที่เกิดขึ้นในเมืองซากีนากา เป็นความอัปยศต่อมนุษยชาติ” ตักเกเรย์ ทวิตข้อความเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และเสริมว่า คดีนี้จะต้องติดตามอย่างรวดเร็ว และคนร้ายจะ “ถูกลงโทษอย่างสาสม”


วิกฤตข่มขืนในอินเดีย


จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานประวัติอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย มีรายงานคดีข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 32,000 คดีในปี 2019 หรือเกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 17 นาที แต่นักเคลื่อนไหวเชื่อว่าตัวเลขจริงจะสูงกว่านี้มาก เพราะยังมีอีกมากที่ไม่กล้าแจ้งความ เนื่องจากหวาดกลัว


รายงานตัวเลขการข่มขืนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่การเสียชีวิตของนิรภยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะความตระหนักในปัญหานี้มีมากขึ้น


บรรดาผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ความโกรธแค้นกระตุ้นให้เกิดความกล้าในการพูดคุยเรื่องปัญหาการข่มขืน โดยไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาอายกันอีกต่อไป


การปฏิรูปกฎกมายและการเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นในคดีข่มขืน เกิดขึ้นตามมาหลังจากคดีของนิรภยา, การเร่งรัดคดีในศาลผ่านกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น, มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำจำกัดความของคำว่า “ข่มขืน” ครอบคลุมทั้งการข่มขืนทางทวารหนักและทางช่องปากด้วย และการใช้วิธีการใหม่ ๆ แทนการทดสอบการข่มขืนด้วยนิ้วมือ 2 นิ้ว ซึ่งเป็นการประเมินว่า ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์หรือไม่


ข่มขืนยังเป็นพาดหัวข่าวทุกวัน


อย่างไรก็ตาม คดีข่มขืนก็ยังคงเป็นประเด็นพาดหัวอยู่เป็นประจำ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีชาย 4 คนถูกตั้งข้อหาข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงวัย 9 ขวบในกรุงนิวเดลี ซึ่งเด็กหญิงคนนี้เป็นสมาชิกของชุมชนวรรณะ “จัณฑาล” (Dalit) วรรณะที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากที่สุดในลำดับชั้นตามวรรณะของศาสนาฮินดู


ในเดือนมกราคม นักบวชฮินดูรูปหนึ่ง พร้อมบรรดาสาวกชายของเขา ถูกจับกุมตัวในข้อหารุมโทรมและฆ่าหญิงวัย 50 ปี ในรัฐอุตตรประเทศ ภาคเหนือของอินเดีย ส่วนในเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ก็เกิดคดีรุมโทรมและฆ่าหญิงสาววรรณะจัณฑาล วัย 19 ปีในรัฐอุตตรประเทศ จุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศอีกครั้ง


ภยานา นักเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ทั่วประเทศร่วมมือกันเพื่อรับประกันว่า ผู้หญิงชาวอินเดียได้รับการปกป้อง “ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่ง เราต้องคิดถึงจุดที่เรายืนอยู่ในตอนนี้ เกือบ 10 ปีแล้วตั้งแต่คดีนิรภยา แต่หลายสิ่งหลายอย่างยังเหมือนเดิม เราต้องร่วมมือกัน มิเช่นนั้นจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้เห็น”


ไม่ว่าจะรณรงค์จริงจังขนาดไหน ด้วยสภาพสังคมที่ยังแบ่งชนชั้นวรรณะอย่างชัดเจน น่าจะยากเกินเยียวยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง