รีเซต

"จุรินทร์"ชี้8ประเด็นสร้างศักยภาพ Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มคุณภาพไทย

"จุรินทร์"ชี้8ประเด็นสร้างศักยภาพ Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มคุณภาพไทย
มติชน
11 พฤศจิกายน 2564 ( 17:57 )
41
"จุรินทร์"ชี้8ประเด็นสร้างศักยภาพ Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มคุณภาพไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ”ขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสังคม สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง”เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ผ่านระบบ zoom ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย ว่า ต้องยอมรับว่าการจัดงานนี้ถือว่าถูกที่ถูกเวลาพอดี เพราะประเทศของเรากำลังเริ่มต้นในการเปิดประเทศ จะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ Social Enterprise (SE)วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ถือเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมมาตรา 3 ระบุว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หมายความว่าบริษัทห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ที่ตั้งขึ้นตามกฏหมาย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้าหรือการบริการ เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมฉบับนี้

 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า Social Enterprise ถือเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำกำไรด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อการพัฒนาชุมชนพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมบวกการก่อการดีในด้านอื่นๆด้วย เพื่อตอบโจทย์ 2 ข้อของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศอังกฤษมีวิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นแล้วประมาณ 100,000 กิจการ สิงคโปร์ 2,600 กิจการ มาเลเซีย 300 กิจการ และสำหรับประเทศไทย วันนี้มี 162 กิจการ ตัวอย่างของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในโลก เช่น 1.ประเทศบังคลาเทศ มีธนาคาร Grameen Bank เพื่อช่วยเหลือสตรียากจนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยใช้ความเชื่อถือหรือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ไปประกอบอาชีพ 2. Eighteen Chefs ของสิงคโปร์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมทำธุรกิจร้านอาหาร รับพนักงานที่เคยมีคดีและกระทำความผิดมาเป็นพนักงานของร้านอาหารถึงร้อยละ 25
3. The Women’s Bean Project ของสหรัฐฯผลิตอาหารโดยสตรี เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับสตรี เสริมบทบาทให้กับสตรีได้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น

 

สำหรับประเทศไทย มีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นในปี 2562 วันนี้ตนเป็นประธานคณะกรรมการวิสาหกิจเพื่อสังคม จับมือกับคณะกรรมการทำงานอย่างเข้มแข็ง ตนเคยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าสิ่งที่ตนอยากเห็น Social Enterprise ของประเทศไทย คือ ประการที่หนึ่ง อยากเห็น SE นำผลกำไรมาแบ่งปันให้กับสังคมมากกว่าธุรกิจปกติที่ CSR ประการที่สอง ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ SE แบบแบ่งปันผลกำไรปรับเป็นแบบไม่แบ่งปันผลกำไรมากขึ้น ซึ่งกำไรทั้งหมดเอาไปช่วยเหลือสังคมมากขึ้น แต่ตนเห็นใจว่าการอยู่รอดทางธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ประการที่สาม จะทำอย่างไรให้มี SE จำนวนมากขึ้น และประการที่สี่ จะทำอย่างไรที่จะจัดให้ SE รวมกลุ่มกันเพื่อจับมือกับองค์กรเครือข่ายต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อช่วยให้มีความพร้อมมากขึ้น ทั้งการตลาด รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ เป็นนโยบายที่มอบไปเมื่อทำหน้าที่ใหม่ๆ วันนี้เกือบ 2 ปีแล้ว ทุกอย่างมีความคืบหน้า มีผลสัมฤทธิ์ปรากฏเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น ประการที่หนึ่ง ตอนแรกเรามี SE 129 แห่ง วันนี้เพิ่มเป็น 162 แห่ง และการประชุมล่าสุดเราตั้งเป้าว่าสิ้นปีงบประมาณ 65 ต้องไปให้ถึง 200 กิจการ ประการที่สองกรรมการเร่งรัดออกกฎหมายลำดับรองเพราะกฎหมายแม่บังคับว่าต้องมีกฎหมายรองไม่ต่ำกว่า 33 ฉบับ ตอนจบแล้ว 23 ฉบับเหลืออีก 10 ฉบับ ที่ต้องเร่งทำต่อไป

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประการที่สาม เราได้มีมติและดำเนินการช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับ SE เช่น 1)ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับ SE ประเภทไม่แบ่งปันกำไร 2)ภาษีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสามารถบริจาคเงินให้กับ SE ได้โดยนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษีนิติบุคคลได้ สำหรับนิติบุคคลนั้นไม่จำกัดจำนวนเงินบริจาคให้กับ SE แต่บุคคลธรรมดา ห้ามเกินรายละ 100,000 บาท ให้สามารถรับเงินบริจาคทำกิจการและช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น 3)นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเปิดให้สามารถบริจาคเงินให้กับกองทุนที่กำลังจะตั้งขึ้น เอาเงินบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีได้ และ 4)ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีผลเมื่อ 14 ตุลาคม 64 เพื่อช่วยเหลือ SE ให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สามารถจัดซื้อจาก SE ในวงเงินเกิน 500,000 บาท โดยไม่ต้องทำ e-bidding ได้ให้สามารถทำแบบเฉพาะเจาะจง

 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ประการที่ห้า ปล่อยกู้ให้กับ SE ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด กองทุนสามารถจ่ายเงินให้เปล่ากับ SE ที่เป็น Start up ได้ตามกฎเกณฑ์ที่จะกำหนดต่อไป และกองทุนส่งเสริม SE จะช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์กับสังคมกับองค์การทั่วไปได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป ประการที่หก มีการจัดทำ MoU นำร่องระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกับ 17 องค์กรเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 มีเป้าหมาย เพื่อให้องค์กรภายนอกจับมือกับ SE ในเรื่องของทุนการพัฒนาศักยภาพ การผลิตการตลาดและเทคโนโลยี เป็นต้น และประการที่เจ็ด ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการตลาด กระทรวงพาณิชย์ควรช่วยเสริมจัดงานเป็นรูปธรรม จัด Online Business Matching (OBM) จับคู่ค้าขายออนไลน์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ จัดไปแล้ว 2 ครั้ง มียอดขาย 15,000,000 บาท ถือเป็นการเริ่มต้น และช่วยอบรมการตลาดให้กับ SE

 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ประการที่แปด ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ช่วยให้ SE สามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ผ่านตลาดทุนได้ โดย 1)ไม่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็น บมจ. 2)ระดมทุนได้ไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุนและ 3)ไม่จำกัดยอดระดมทุน และ4)ไม่ต้องขออนุญาต กลต.เป็นครั้งๆ เพราะถือว่าสามารถดำเนินการได้เลย จะช่วยให้มีแหล่งทุนเข้ามาสร้างการเติบโตได้มากขึ้น และประการที่เก้า ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจัดอบรมทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งขึ้น อบรมให้ความรู้การเงิน การบัญชี การตลาด กำหนดมาตรฐานของสินค้าบริการ รวมถึงการส่งออกและการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซที่จะมีความสำคัญยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง