รีเซต

สธ.เร่งถอดรหัสพันธุกรรม ยังไม่รู้สายพันธุ์อินเดียมาจากไหน ตอบปมวัคซีน

สธ.เร่งถอดรหัสพันธุกรรม ยังไม่รู้สายพันธุ์อินเดียมาจากไหน ตอบปมวัคซีน
ข่าวสด
21 พฤษภาคม 2564 ( 16:34 )
88
สธ.เร่งถอดรหัสพันธุกรรม ยังไม่รู้สายพันธุ์อินเดียมาจากไหน ตอบปมวัคซีน

สธ.เผยแคมป์ก่อสร้างหลักสี่ติดโควิดสายพันธุ์อินเดีย 15 ราย เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน ยังไม่รายงานสัญชาติ เผยประเทศรอบบ้านมีสายพันธุ์ ไม่รู้หลุดรอดมาจากทางไหน รอถอดรหัสพันธุกรรม

 

 

วันที่ 21 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีแคมป์คนงานอิตาเลียนไทย เขตหลักสี่ พบติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย 15 ราย ว่า เชื้อโควิดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อู่ฮั่นกลายเป็นหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจ คือ กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดง่ายขึ้น โรครุนแรงมากขึ้นเสียชีวิตมากขึ้น และทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพหรือป้องกันโรคไม่ดี โดยสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วนที่มีการพูดถึงสายพันธุ์สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ปฏิเสธไปแล้ว

 

 

"ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่ สธ.และห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการถอดรหัสพันธุกรรม และรวบรวมข้อมูลโดยใช้หลักการทางระบาดวิทยาในการอ้างอิง ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์จีและสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย" นพ.โอภาสกล่าว

 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้ระบาดมากในอินเดีย และในหลายประเทศ คือ อังกฤษ มาเลเซีย กรณีระบาดที่สนามบินซางฮีในสิงคโปร์ เบื้องต้นบอกว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย ส่วนพม่าและกัมพูชาการตรวจสายพันธุ์ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อว่ามีสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้น ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งจะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และมหาวิทยาลัยต่างๆ พบการแพร่ระบาดโควิดที่แคมป์คนงานหลักสี่ และนำตัวอย่างทั้งหมด 61 ตัวอย่างตรวจหาสายพันธุ์ พบว่า ตรงกับสายพันธุ์อินเดีย 15 ตัวอย่าง หรือ 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี ยังไม่ยืนยันว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ แต่ทั้ง 15 รายส่วนใหญ่อาการน้อยรักษาอยู่ใน รพ. โดยเป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนในแคมป์ จึงต้องมีการเร่งรัดสอบสวนควบคุมโรค โดยทั้งหมดไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย อยู่ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว จะมีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยการตรวจรหัสพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้านี้ด้วย

 

 

 

 

"ตอนนี้ที่มีข้อมูลสายพันธุ์อินเดียมากสุด คือ ประเทศอังกฤษ โดยหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษพบว่า สายพันธุ์อินเดียมีการแพร่กระจายโรคไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ความรุนแรงของโรคก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนการไม่ตอบสนองวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีน พบว่า สายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งอังกฤษมีการฉีดวัคซีนอย่างมากก็ควบคุมการแพร่ระบาดที่มีทั้งสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียได้ ส่วนการรักษายังใช้แนวทางเดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ คือ ใช้เวลารักษา 14 วัน ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง" นพ.โอภาสกล่าว

 

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคยังเหมือนเดิม คือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เนื่องจากแม้จะแพร่ระบาดง่าย แต่วิธีการแพร่ยังเหมือนเดิม มาตรการด้านสาธารณสุข เมื่อพบผู้ป่วยยังต้องแยกกัก นำผู้ป่วยไปรักษา นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเข้าสู่การตรวจ ขณะที่มาตรการทางสังคม ทาง กทม. ฝ่ายความมั่นคง และชุมชนโดยรอบแคมป์ก่อสร้างก็มีการควบคุมการเข้าออก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด

 

 

เมื่อถามว่ามีการสอบสวนโรคหรือไม่ว่าเชื้อสายพันธุ์อินเดียมีต้นตอมาจากไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า เชื้อหลุดรอดมาจากทางไหนต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของเชื้อไวรัสที่พบในประเทศไทยและนำไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เพื่อดูต้นทาง เหมือนกรณีส่ายพันธุ์อังกฤษที่ตรวจพบมาจากกัมพูชา รวมถึงต้องใช้หลักการระบาดวิทยาในการสอบสวนร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ ต้องรอดูข้อมูลทั้งสองส่วนประกอบกัน นอกจากนี้ จะมีการตรวจรหัสพันธุกรรมของเชื้อบริเวณตามชายแดนต่างๆ ทั่วประเทศด้วยหากมีความคืบหน้าจะรายงานเป็นระยะ

 

 

เมื่อถามถึงวัคซีนซิโนแวคจะยังมีประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์อินเดียหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคเบื้องต้นยังมีประสิทธิภาพ แต่ขอไปดูข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กลุ่มแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน จะมีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งมีแผนปูพรมฉีดวัคซีน 5 ล้านโดส ภายใน 2 เดือนของ กทม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง