รีเซต

สิ่งควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 'สภานิติบัญญัติ' ของฮ่องกง

สิ่งควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 'สภานิติบัญญัติ' ของฮ่องกง
Xinhua
19 ธันวาคม 2564 ( 19:00 )
93

ฮ่องกง, 19 ธ.ค. (ซินหัว) -- วันอาทิตย์ (19 ธ.ค.) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีนจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ชุดที่ 7 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง โดยหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 600 จุด เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4.5 ล้านคน ลงคะแนนเสียงจนกระทั่ง 22.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 

สภานิติบัญญัติ (LegCo) คืออะไร

 

โครงสร้างทางการเมืองของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงระบุอยู่ในหมวด 4 ของกฎหมายพื้นฐานแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และวางระบบบริหารที่นำโดยผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยกฎหมายพื้นฐานกระจายอำนาจและหน้าที่เป็นสามส่วน ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

 

ทั้งสามส่วนเกื้อหนุนกันและกันด้วยเป้าหมายร่วมที่ยึดมั่นเอกภาพของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ธำรงไว้ซึ่งความมั่งคั่งและเสถียรภาพของฮ่องกง โดยอำนาจของทั้งสามส่วนมาจากรัฐบาลส่วนกลาง

 

อำนาจและหน้าที่หลักของสภาฯ ประกอบด้วยการออกกฎหมาย แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณ การจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายสาธารณะ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ปี 2021 มีความแตกต่างอย่างไร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 ของฮ่องกง ซึ่งเดิมทีกำหนดไว้วันที่ 6 ก.ย. 2020 ถูกเลื่อนมานานนับปีเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกงโดยสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีน

 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2021 คณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) รับรองการแก้ไขภาคผนวก 2 ของกฎหมายพื้นฐานแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งระบุวิธีการใหม่ในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อดำเนินการตามหลักการ "ผู้รักชาติบริหารฮ่องกง" ได้ดียิ่งขึ้น

 

จำนวนสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 จะเพิ่มขึ้นจาก 70 เป็น 90 ที่นั่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 40 ที่นั่ง การเลือกตั้งโดยกลุ่มอาชีพต่างๆ 30 ที่นั่ง และการเลือกตั้งโดยการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 20 ที่นั่ง ตามลำดับ

 

 

ทำไมการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ จึงมีความสำคัญ

ฮ่องกงนั้นประสบปัญหาเรื้อรังหลายประการมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอต่อความต้องการจนถึงช่องว่างความมั่งคั่งที่ขยายกว้างต่อเนื่อง และบรรดาคนรุ่นใหม่โหยหาโอกาสในชีวิตเพิ่มขึ้น

 

ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพราะการเลือกตั้งของฮ่องกงในอดีตมักลงเอยด้วยความสับสนอลหม่าน

 

ขณะเดียวกันกลุ่มกองกำลังภายนอกที่ต่อต้านจีนมักฉวยใช้การเลือกตั้งมาสร้างภยันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และบั่นทอนความมั่งคั่งและเสถียรภาพของฮ่องกง

 

การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้อุดช่องโหว่ในเชิงสถาบันที่กลุ่มต่อต้านจีนใช้เข้าสู่โครงสร้างการปกครองเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยปัจจุบันสาธารณชนต่างเห็นว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ครั้งนี้มีลักษณะของการสรรหาตัวแทนจากวงกว้าง ความครอบคลุมทางการเมือง การมีส่วนร่วมที่สมดุล และการแข่งขันที่ยุติธรรม

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ จะชักนำคนหน้าใหม่และสร้างบรรยากาศใหม่ ซึ่งมีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อหลักการ "ผู้รักชาติบริหารฮ่องกง" รวมถึงการบังคับใช้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ เป็นใคร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 มีการเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 153 คน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญจากวงการธุรกิจ วงการวิชาการและวงการวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนตัวแทนแรงงาน พนักงาน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระดับรากหญ้า มีทั้งผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองและคนรุ่นใหม่

 

ผู้สมัครรับเลือกตั้งราวครึ่งหนึ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดจะแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้สมาชิกสภาฯ จำนวน 90 ที่นั่ง ซึ่งทุกที่นั่งมาจากการแข่งขันเท่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิในปี 1997

 

รายงานระบุว่าการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 51 คน เพื่อชิง 40 ที่นั่ง การเลือกตั้งโดยกลุ่มอาชีพต่างๆ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 67 คน เพื่อชิง 30 ที่นั่ง และการเลือกตั้งโดยการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 35 คน เพื่อชิง 20 ที่นั่ง

 

สมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อใด

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ร่วมกับสภาคณะผู้บริหาร ซึ่งอาศัยอำนาจตามกฤษฎีกาสภานิติบัญญัติ ได้กำหนดให้สมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2022 เป็นต้นไป

 

นอกจากนั้นผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งอาศัยอำนาจตามกฤษฎีกาสภาฯ ได้กำหนดให้เริ่มสมัยประชุมสภาฯ ปี 2022 ในวันที่ 12 ม.ค. 2022 และเริ่มการประชุมครั้งแรกของสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 7 ตั้งแต่ 11.00 น. ของวันที่ 12 ม.ค. 2022 ตามเวลาท้องถิ่น

อนึ่ง สมาชิกสภาฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งนาน 4 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง