รีเซต

โควิด-19: สิงคโปร์ควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างไร

โควิด-19: สิงคโปร์ควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างไร
ข่าวสด
24 ธันวาคม 2563 ( 21:50 )
78

หลังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในไทยพุ่งสูงขึ้นกว่า 540 คนในวันเดียวในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะในหมู่แรงงานต่างชาติที่อยู่ใน จ. สมุทรสาคร ทำให้มีการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง นอกจากนี้ทางการไทยยังได้พูดถึงการรับมือกับการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติตามแบบอย่างที่สิงคโปร์เคยทำก่อนหน้านี้ด้วย

 

ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า มีแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ติดเชื้อไปแล้ว 152,000 คน หรือคิดเป็น 47% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด ในจำนวนนี้รวมการตรวจแบบหาแอนติบอดีซึ่งเป็นการตรวจว่าเคยติดเชื้อหรือไม่ด้วย ราว 98,000 คน

 

หากไม่นับรวมแรงงานต่างชาติ มีผู้ติดโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์ไม่ถึง 4,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 5.7 ล้านคน

 

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานโดยอ้างกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ว่า มีจำนวน 21 คน และเป็นการติดเชื้อจากภายนอกประเทศทั้งหมด ส่วนยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 58,482 คน ซึ่งเป็นการตรวจแบบพีซีอาร์ หรือการตรวจว่ามีเชื้ออยู่ในขณะนั้นหรือไม่ โดย 93% ของผู้ติดเชื้อสะสมนี้เป็นแรงงานต่างชาติ

 

Reuters
สิงคโปร์เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในประชากรแรงงานต่างชาติ

 

กักกันเข้ม

ในช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในเดือน เม.ย. มีการติดเชื้อในหมู่แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มากกว่า 1,000 คนต่อวัน ทำให้ทางการสิงคโปร์สั่งกักตัวแรงงานที่อาศัยอยู่ในหอพักขนาดใหญ่หลายแห่งเพื่อกันประชากรกลุ่มนี้ออกจากกลุ่มอื่น

มีการนำแรงงานที่สุขภาพแข็งแรงราว 10,000 คน ที่มีความจำเป็นสำหรับงานหลายอย่าง ออกจากหอพักไปอยู่ที่อื่น เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แต่แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ติดอยู่ในหอพัก บางส่วนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้อง โดยทุกจะได้รับการตรวจหาเชื้อ แรงงานที่ติดเชื้อจะถูกแยกตัวออกไปรักษา

การล็อกดาวน์แรงงานต่างชาติของสิงคโปร์ ต่างไปจากการล็อกดาวน์ทั่วไปซึ่งอนุญาตให้คนออกไปซื้อของ ออกกำลังกาย และส่งของได้ แต่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ถูกกักขังไว้จริง ๆ และได้รับเพียงอาหารพื้นฐานสำหรับยังชีพเท่านั้น ทำให้มาตรการนี้ถูกวิจารณ์จากองค์กรด้านแรงงาน

"เมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปจากห้องเลย เราไม่ได้รับอนุญาตให้ไปห้องที่อยู่ติดกันด้วย" ไวทยานาธาน ราชา ซึ่งมาจากตอนใต้ของอินเดียบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซี

 

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การติดเชื้อทั้งในประชากรทั่วไปและแรงงานต่างชาติในหอพักในสิงคโปร์ลดลงจนเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ทางการก็ประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดเฉพาะในกลุ่มประชากรทั่วไปเท่านั้น

แต่แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการเดินทางอยู่

อเล็กซ์ อู จากองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติชื่อ Transient Workers Count Too (TWC2) กล่าวกับบีบีซีว่า "สิงคโปร์ไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติเหมือนกับนักโทษ หลายคนถูกกักตัวอยู่นานถึง 8 เดือน"

 

ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่

สิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติมากกว่า 320,000 คน ซึ่งมาจากหลายประเทศรวมถึงอินเดียและบังกลาเทศ ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิตและก่อสร้างที่ได้ค่าแรงต่ำ

สิทธิในการอยู่อาศัยในสิงคโปร์จะผูกติดกับงาน และนายจ้างต้องจัดหาที่พักให้ พวกเขาเดินทางจากหอพักไปสถานที่ก่อสร้างด้วยรถตู้ที่บรรทุกคนจนแน่น ในช่วงพักกลางวันก็มักจะไปสุงสิงกับแรงงานที่มาจากหอพักอื่นที่อยู่อาศัยกันอย่างแออัดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่าย

 

Getty Images
แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มักจะทำงานในภาคก่อสร้างและการผลิต

 

ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด ห้องพัก 1 ห้องในหอพักของแรงงานต่างชาติ อาจมีคนอยู่รวมกันมากถึง 20 คน เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้

ช่วงปลายเดือน มี.ค. องค์กร TWC2 ได้เตือนว่า เสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้ ซึ่งจากนั้นไม่นานก็เป็นไปตามที่คาด ช่วงกลางเดือน เม.ย. รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มเผยแพร่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ประชากรทั่วไป กับแรงงานต่างชาติในหอพัก ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่แตกต่างกันมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาด ทำให้คนจำนวนมากในสิงคโปร์ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานอพยพเหล่านี้ ประกอบกับมีการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในหอพักของแรงงานต่างชาติ

มาฮัลลิงกัม เวตริเซลวาน แรงงานวัย 51 ปีจากอินเดีย บอกว่า เตียงสองชั้นที่มีอยู่หลายเตียงในห้องพักถูกแทนที่ด้วยเตียงเดี่ยวที่วางให้ห่างกันในระยะที่เหมาะสม

แรงงานต่างชาติอีกคนได้ส่งภาพที่คล้ายคลึงกันของหอพักที่มีการปรับปรุงใหม่ และจำนวนเตียงในห้องลดลงจาก 15 เตียงเหลือ 8 เตียง

ขณะที่ซากีร์ ซึ่งมาจากบังกลาเทศ และทำงานเป็นผู้ประสานงานโครงการในงานก่อสร้าง กลับไม่เห็นความแตกต่าง เขาบอกว่า หลังจากถูกนำไปตัวไปรักษาโควิด-19 เขาพักฟื้นอยู่ในที่พักชั่วคราว ก่อนที่จะกลับมาพักในหอพักตามเดิม

"ผมออกจากหอพักไปวันที่ 17 เม.ย. และกลับมาวันที่ 9 ก.ค. ผมไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย" เขากล่าว และบรรยายว่า ห้องเขามีขนาด 6x7 เมตร มีคนพักรวมกันสูงสุด 12 คน

 

ฉีดวัคซีนให้แรงงานก่อน

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า ในเดือน ส.ค. ประชากรแรงงานทั้งหมดได้รับการตรวจหาโควิด-19 แล้ว อย่างน้อย 1 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบพีซีอาร์ หรือการตรวจหาแอนติบอดี ใครก็ตามที่มีผลเป็นบวกจะถูกแยกตัว รวมถึงผู้ที่ผลตรวจแอนติบอดีเป็นบวก ซึ่งหมายถึงเคยมีการติดเชื้อในอดีต เจ้าหน้าที่ทางการบอกด้วยว่า มีการให้ความช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์แก่แรงงานเหล่านี้

ขณะที่ยังมีแรงงานอีก 65,000 คนรอผลตรวจแบบแอนติบอดีอยู่

แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า นายกัน คิม ยอง รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า แรงงานต่างชาติจะได้รับวัคซีนต่อจากกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง

"แม้แต่ในกลุ่มแรงงานต่างชาติเอง คุณจำเป็นต้องแบ่ง อาจจะมีคนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่า หากเป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องให้ความสำคัญกับพวกเขามากกว่า" แชนแนลนิวส์เอเชียอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายกัน

 

Reuters
สิงคโปร์ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชุดแรกจากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) แล้ว

 

แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานด้วยว่านายทัน ซี เลง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ระบุว่า แรงงานที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ซึ่งหมายความว่า ยังไม่มีภูมิต้านทาน น่าจะได้รับวัคซีนก่อน

"เราจะให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้มากกว่าแรงงานกลุ่มอื่น และกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเข้ามา" เขากล่าว

โดยนายทันได้เปิดเผยถึงแผนการให้วัคซีนแก่แรงงานว่า จะมีการให้วัคซีนที่ศูนย์การแพทย์ภายในหอพักต่าง ๆ รวมถึงศูนย์สันทนาการและคลินิกการแพทย์ในชุมชมที่ตรวจคัดกรองแรงงานต่างชาติ

สำนักข่าวรอยเตอร์เพิ่งรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ธ.ค.) ว่า สิงคโปร์ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชุดแรกจากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) แล้ว ถือเป็นชาติแรกในเอเชีย หลังจากที่ทางการสิงคโปร์ให้การรับรองวัคซีนนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่า จะมีการเริ่มให้วัคซีนในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

 

ตรวจหาเชื้อซ้ำเป็นประจำ

ในไตรมาสแรกของปี 2021 สิงคโปร์จะเริ่มอนุญาตให้แรงงานอพยพในหอพักบางแห่งเข้าไปในชุมชนได้เดือนละ 1 ครั้ง โดยจะต้องมีการตรวจหาเชื้อเป็นประจำ สวมอุปกรณ์ติดตามการสัมผัสเชื้อ และปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ

แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายทันว่า แรงงานกลุ่มที่เพิ่งหายจากโควิด-19 จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นประจำ แต่ทางการจะศึกษาการเปลี่ยนแปลงแอนติบอดีของพวกเขาเป็นระยะ แรงงานที่เริ่มมีแอนติบอดีลดลง จะต้องกลับเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นประจำอีกครั้ง

 

Getty Images
หอพักแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในย่านชานเมืองของสิงคโปร์

 

ด้านนายอู จากองค์กร TWC2 กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ แม้แต่แรงงานที่สุขภาพแข็งแรงก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกได้เฉพาะไปทำงาน และไปซื้อของที่ร้านค้าที่กำหนดไว้บริเวณใกล้กับหอพักเท่านั้น

"แรงงานยังคงถูกกักตัว และได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นนักโทษ ถูกใช้แรงงานโดยไม่ให้เสรีภาพในการเดินทาง" นายอู กล่าว

 

ไทยเอาอย่างได้หรือไม่?

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขรายงานเมื่อเวลา 16.00 น. เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) ว่ายอดรวมผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร เพิ่มเป็น 65 ราย โดยกระจายตัวอยู่ใน 22 จังหวัด ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาที่ติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย นับตั้งแต่พบการติดเชื้อเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.

ก่อนหน้านี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้อ้างถึงมาตรการควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติของสิงคโปร์ ซึ่งไทยอาจจะนำ "สิงคโปร์โมเดล" มาปรับใช้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) ว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันนี้ (24 ธ.ค.) จะได้ข้อยุติถึงมาตรการควบคุมโรคในระยะต่อไปรวมถึงช่วงปีใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการจัดแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศตามระดับความรุนแรงของการระบาดและความเสี่ยง เป็นพื้นที่สีเขียว สีส้ม และสีแดง เพื่อมีมาตรการเฉพาะลงไปว่าทำอย่างไรได้บ้าง

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นที่มาของการระบาดระลอกใหม่ในครั้งนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่ลักลอบเข้าเมือง

 

Reuters
แรงงานชาวเมียนมาใน จ. สมุทรสาคร เข้ารับการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19

 

ขจัดขบวนการลักลอบแรงงาน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ต้องขจัดขบวนการลักลอบแรงงานให้ได้มากที่สุด

"สิ่งที่กังวลเรื่องเดียว ขณะนี้คือมีบางโรงงานหรือหลายโรงงานใช้แรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เอาไปปล่อยในพื้นที่อื่น ๆ หรือลาออกจากงาน เมื่อเช้า (23 ธ.ค.) ผมก็ได้สั่งการ ศบค. ให้หามาตรการตรงนี้มาว่าจะทำยังไง โดยให้แนวทางไปว่า ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดู เหมือนสมัยที่เราขึ้นทะเบียนแรงงานสมัยก่อนมีวิธีการขึ้นทะเบียนชั่วคราวไปก่อนบัตรสีชมพู ก็กำลังดำเนินการตรงนี้ เพราะถ้าเราไปดำเนินการอย่างเข้มข้นมากเกินไปก็มีการเอาแรงงานนี้ไปปล่อยที่อื่น ขณะนี้จึงหากำลังหามาตรการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งระหว่างไทยและสิงคโปร์คือ แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์เป็นแรงงานถูกกฎหมายที่เข้ามาถูกต้องตามกระบวนการ ทางการรู้จำนวนที่แน่ชัดและสามารถควบคุมจัดการได้โดยง่ายกว่า ขณะที่ไทยมีแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานจำนวนมาก และท่าทีของทางการที่ต้องการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายในช่วงการระบาดของโควิดอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนมาตรการการจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุติการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

"เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ แทนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการด้านสาธารณสุขนำในการแก้ปัญหา เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทุกคน ไม่ว่าจะทำงานโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตามสามารถเข้าถึงการป้องกัน ตราวจและรักษา ซึ่งคนเหล่านั้น รวมทั้งนายจ้าง จะต้องไว้วางใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ข่าวสารและสัญญาณที่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงส่งออกไปนั้น ได้ทำลายบรรยากาศของความไว้วางใจและความร่วมมือในการป้องกันรักษาโรคโควิด-19 ลงอย่างน่าเสียดาย" เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง