รีเซต

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ : “กู้คืนศรัทธา” โจทย์ท้าทายแม่ทัพคนใหม่

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ : “กู้คืนศรัทธา” โจทย์ท้าทายแม่ทัพคนใหม่
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2566 ( 21:09 )
88
ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ : “กู้คืนศรัทธา” โจทย์ท้าทายแม่ทัพคนใหม่

ย้อนบรรยากาศการประชุมวันที่ 9 ก.ค. ที่เริ่มต้นตั้งแต่เช้า แต่กลับยืดเยื้อ และไม่ราบรื่นตลอดครึ่งวัน หลังมีสมาชิกพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับพรรค ในเรื่องของสัดส่วนการโหวตหัวหน้าพรรค ที่ให้น้ำหนักคะแนนสัดส่วน ส.ส.เลือกหัวหน้าพรรคถึงร้อยละ  70  ต่อร้อยละ 30 กับกลุ่มอื่น ๆ ของพรรค เป็น สัดส่วนโหวต 1 ต่อ 1 แต่ที่ประชุม มีมติ 3ใน 5 ยังคงใช้ข้อบังคับเดิม คือ 70 ต่อ 30 ต่อไป

 

วงประชุมเดินหน้าต่อในภาคบ่ายในขั้นตอนเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่  และตำแหน่งอื่น ๆ ไม่เกิน 41 คน ซึ่งองค์ประชุมตามข้อบังคับพรรค จะต้องครบ 250 คน แต่สมาชิกที่มีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรคกลับไม่เข้าร่วมประชุม แม้จะให้มีการนับองค์ประชุมกันถึง 2 ครั้ง เพื่อรอสมาชิก แต่ที่สุดองค์ประชุมก็ไม่ครบอยู่ดี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงประกาศยุติการประชุม แล้วหารือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคทันที เพื่อนัดประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการตามข้อบังคับพรรคภายใน 30 วัน ในวันที่ 12 ก.ค. เพื่อยกเว้นข้อบังคับเพื่อให้มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อีกครั้ง



 

วงประชุมล่ม !! สะท้อนการเมืองประชาธิปัตย์ไม่นิ่ง

 

รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์กับ TNN ถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ไม่มีเสถียรภาพของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังคงมีหลากหลายกลุ่ม มีการเสนอชื่อจากบุคคลกลุ่มต่าง ขณะเดียวกันก็เผชิญกับการเมืองภายนอกที่มีคำถามต่อจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในการจัดตั้งรัฐบาล และ การโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 หรือแม้แต่ท่าทีจุดยืนต่อการปฏิรูปในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนาน

 

ข้อวิเคราะห์ รศ.ยุทธพร สอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ สมาชิกพรรคแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายแรก คือสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค


 

ขณะที่อีกฝ่ายเตรียมเสนอนายนราพัฒน์ แก้วทอง  เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่  จึงเป็นที่มาของการหารือแก้ไขข้อบังคับพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เพราะ สัดส่วนของ ส.ส.พรรคที่มี 25 คน คาดจะโหวตให้นายนราพัฒน์

 

และยังมีชื่อนางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค  , พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล สมาชิกพรรค ที่ประกาศลงชิงตำแหน่งด้วย รวมถึง นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่ประกาศชิงหัวหน้าพรรคคนแรก ๆ แต่เจ้าตัวไม่ได้มาในวันประชุมถูกตีความว่าถอนตัวสละสิทธิ์ แต่เมื่อการเลือกแม่ทัพคนใหม่ขยับออกไป รศ.ยุทธพร มองว่า นายอลงกรณ์ อาจจะปรากฎตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็เป็นได้ !!



 

รศ.ยุทธพร ยังมองว่า รายชื่อที่ถูกเสนอจากจากกลุ่มต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางความคิดที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องพยายามเสนอตัวแทรกเข้ามาตรงรอยต่อนี้

 

“มันสะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพ เอกภาพของประชาธิปัตย์ ซึ่ง มันควรจะจบตั้งแต่การประชุมครั้งแรก แบบมีฉันทามติ ซึ่งหากย้อนดูอดีตประชาธิปัตย์ จะมีธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่จะพูดคุยกันก่อนให้ได้ข้อสรุปยุติเป็นมติพรรค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เราไม่เห็นความเป็นเอกภาพนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคประชาธิปัตย์”

 

“กู้คืนศรัทธา” ภารกิจท้าทายหัวหน้าพรรคคนใหม่

 

รศ.ยุทธพร มองว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ มีภารกิจที่ท้าทายรออยู่ !!

 

1.ต้องปรับโครงสร้างใหม่ที่ไม่ใช่การเพิ่มเสริมตำแหน่ง หรือจัดทัพตำแหน่งใหม่ แต่หมายถึงการปรับวิธีคิด .. สิ่งสำคัญวันนี้ของพรรคประชาธิปัตย์คือ วิธีคิดที่ยังไม่ทันยุค ไม่ทันสมัย ต้องมีการปรับเปลี่ยนตัววัฒนธรรมองค์กรใหม่ หากมองบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยขาด แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เข้ามาแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ได้

 

“อย่างคุณอภิสิทธิ์ ครั้งหนึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังในประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2535 แต่พอเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคก็กลายเป็นว่าถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาอยู่ในสไตล์ความเป็นประชาธิปัตย์ จนวันหนึ่งมีความเห็นไม่ตรงกับพรรคก็กลายเป็นคนที่ต้องจากไป”

 

2. เร่งฟื้นความนิยม ความเชื่อมั่นจากผู้สนับสนุนเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องหาผู้สนับสนุนใหม่ ต้องยอมรับว่าปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ คือ ฐานสนับสนุนเดิมในอดีตหายไป ทั้งจากการร่วงโรยไปตามกาลเวลา หรือบางส่วนไหลไปสู่พรรคการเมืองใหม่ ๆ ซึ่งเห็นสัญญาณมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 และยิ่งชัดในการเลือกตั้งปี 2566 เพราะฉะนั้นต้องหาฐานสนับสนุนใหม่มาเติม

 

“แต่ปัญหาก็คือฐานเสียงใหม่ก็ยังไม่ชัด เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้เชื่อมต่อกับพรรคประชาธิปัตย์มากนัก จึงต้องปรับให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ความเห็นใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับกรอบความเป็นประชาธิปัตย์ เปิดกว้างและให้อิสระทางความคิด สร้างความสมดุลระหว่าง “มติพรรค” และ “ความเห็นส่วนบุคคล” ให้มากขึ้น

 

ไม่ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใครการกอบกู้ชื่อเสียง ฟื้นคืนศรัทธาแห่งการเป็นมากกว่าพรรคการเมือง แต่คือความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่สืบทอดมายาวนาน 78 ปี ถือเป็นโจทย์ยาก และเป็นภารกิจที่ท้าทายในก้าวย่างต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์



 

เรียบเรียงโดย จิตฤดี บรรเทาพิษ

 

 

ที่มาภาพ TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง