"กั้งหางแดง" ไวรัลสัตว์ทะเลหน้าแปลก ลอยเกลื่อนบางแสน สัญญาณทะเลผิดปกติ?

"กั้งหางแดง" สัตว์ทะเลหน้าแปลกเกลื่อนหาดบางแสน กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล
ช่วงนี้ในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพ "กั้งหางแดง" ลอยเต็มชายฝั่งบางแสน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกฤดูร้อน สาเหตุเกิดจาก อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้กั้งหางแดงต้องลอยขึ้นมาหายใจ ชาวบ้านจึงใช้สวิงช้อนขึ้นมานำไปประกอบอาหารหรือขายสร้างรายได้
กั้งหางแดงคืออะไร?
"กั้งหางแดง" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "แม่หอบอ่อน" และ "แม่หอบทราย" เป็นสัตว์น้ำในตระกูลกุ้งและกั้ง มีลักษณะคล้ายกุ้งแต่ไม่ใช่กุ้ง และ คล้ายกั้งแต่ก็ไม่ใช่กั้ง จุดเด่นคือ ส่วนหางที่มีสีแดงสด แล ะอวัยวะสีเหลืองภายในตัวที่ไม่ใช่ไข่ แต่เป็น ตับที่ใช้สะสมอาหารและของเสีย
โดยปกติ กั้งหางแดงอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลในรูทราย พบได้ยาก และ มีราคาสูง เพราะเนื้อแน่น หวานมัน นิยมนำไปทำเมนูทอดกระเทียม หรือชุบแป้งทอด ซึ่งให้รสชาติอร่อย ไม่แพ้กุ้งหรือปู ราคาอยู่ที่ 50 - 100 บาทต่อกิโลกรัม
ปรากฏการณ์กั้งหางแดงลอยทะเล : สัญญาณผิดปกติของธรรมชาติหรือไม่?
จากการตรวจสอบของ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล พบว่าคุณภาพน้ำทะเลยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่กั้งหางแดงลอยเหนือน้ำเกิดจาก อุณหภูมิพื้นทะเลที่สูงขึ้น ทำให้พวกมันต้องขึ้นมาหายใจ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในช่วงหน้าร้อน
ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญนิเวศทางทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์ในกรณีแม่หอบอ่อน ขึ้นออกจากทะเลเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ว่าในช่วงที่ทะเลบางแสนคลอโรฟิลด์สูง แต่ออกซิเจนต่ำ ทำให้กั้งหางแดงต้องออกมาจากรู ซึ่งนานๆ จะขึ้นมาที