รีเซต

ศบค.ห่วงโควิดภาคใต้ หญิงตั้งครรภ์ เสียชีวิต 100% เหตุไม่ได้รับวัคซีน

ศบค.ห่วงโควิดภาคใต้ หญิงตั้งครรภ์ เสียชีวิต 100% เหตุไม่ได้รับวัคซีน
ข่าวสด
27 ตุลาคม 2564 ( 14:16 )
79

ศปก.ศบค. ห่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ วอนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน เผยหญิงตั้งครรภ์-เด็ก เสียชีวิต 100% ไม่ได้รับวัคซีน

 

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. มีการรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มของผู้ติดเชื้อ เริ่มทรงตัว และค่อยๆลดลง ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ทุกวัน

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ที่ประชุม มีการเร่งรัดสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องวัคซีนเป็นภาษาพื้นถิ่นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว สถานีวิทยุ แผ่นพับ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและประสานงานจากผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา

 

2.ต้องจำกัดวง ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากวิเคราะห์สถานการณ์แล้วพบว่า เป็นการระบาดในระดับครอบครัว ชุมชนโดยเฉพาะตลาด สถานประกอบกิจการ เช่น ร้านอาหาร ร้านน้ำชา

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว มีการดำเนินการหลักๆ โดยได้รับบริการจากรถพระราชทานชีวะนิรภัย ได้รับบริการจากโมบายวัคซีนของทางเอกชน คือ เอสซีจี ใช้บริการของรถขนส่งวัคซีนที่เป็นรูปแบบห่วงโซ่ความเย็นที่เสถียร มีหน่วยงานสนับสนุนลงไปสอบสวนโรค (CCRT) จำนวน 382 ทีม โดยตรวจคัดกรอง แยกกัก รักษา ให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นการนำต้นแบบของการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ผ่านมา และได้ใช้การจัดการโดยทีม CCRT ลงไปในพื้นที่

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ทางจังหวัดได้ทำแผนงานเชิงรุกของแต่ละจังหวัดเองเพื่อขับเคลื่อนงานโดยผ่าน ศ.ป.ส. เช่น จ.นราธิวาส ทำแคมเปญโดยผ่านผู้นำศาสนา ฝ่ายปกครอง คือกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่มีส่วนร่วม คืออาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ทำแคมเปญชื่อ เซฟนารา นาราเซฟ ส่วนสงขลาก็มีเช่นกัน เน้นตรวจไว รักษาไว และถ้าไม่มีการติดเชื้อก็รีบเร่งรัดให้วัคซีนโดยไว

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ที่ประชุมศบค. มีความเป็นห่วงจากที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นระยะ พบว่าผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และกว่า 90% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น เป้าหมายหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า จากรายงานผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ผลรวมของกลุ่มเสี่ยงเป็น 100% และทั้งหมดที่เสียชีวิตคือ ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ พบว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะ นั่นหมายถึงการสูญเสียสองชีวิต เพราะกว่า 50% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตนั้น ทารกในครรภ์จะเสียชีวิตเพราะมารดา และอีก 50% ที่รอด เป็นการสูญเสียอย่างยิ่งของครอบครัว

 

จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนในท้องถิ่น ช่วยประชาสัมพันธ์การระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง และขอความร่วมมือจากประชาชน หากมีบุคคลที่รู้จัก ญาติสนิท เพื่อนบ้าน หรือ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือหญิงตั้งครรภ์ช่วยแจ้งหรือสนับสนุนให้มารับบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง