รีเซต

กทม.เดินหน้าพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ สร้างความเชื่อมั่นปชช.

กทม.เดินหน้าพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ สร้างความเชื่อมั่นปชช.
ข่าวสด
18 มกราคม 2565 ( 10:32 )
81

กทม. สำนักการระบายน้ำ ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน พัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่สำนักการระบายน้ำ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบ ว่า สำนักการระบายน้ำ ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบในส่วนที่ กทม.รับผิดชอบ

 

โดยร่วมกับกรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ และบริษัทเอกชน เสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำ พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือ 8 แห่ง และจัดหาเรือไฟฟ้า 12 ลำ เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง - สำนักงานเขตมีนบุรีแล้วเสร็จ คาดว่าจะให้บริการประชาชนได้ประมาณเดือน มี.ค.65

 

ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ ทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองและริมฝั่งคลองตลอดแนว ตามแผนรักษาความสะอาดคูคลองและแหล่งน้ำตามวงรอบที่กำหนดไว้

 

ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะ หรือของเสียลงคลอง คู ลำราง ลำกระโดง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้ผลตอบแทนเป็นสิ่งกระตุ้นประชาชนที่อาศัยริมคลองแสนแสบและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบำบัดน้ำเสียในชุมชน

 

ส่วนการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีแหล่งกำเนิดน้ำเสียริมคลองแสนแสบขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 913 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 667 แห่ง บังคับใช้กฎหมาย 246 แห่ง และมีแหล่งกำเนิดน้ำเสียขนาดเล็ก 427 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมาย 416 แห่ง บังคับใช้กฎหมาย 11 แห่ง ซึ่งจะต้องติดตามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แหล่งกำเนิดน้ำเสียปฏิบัติได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

 

นอกจากนี้ยังได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดโครงการในด้านต่าง ๆ หากเป็นกิจกรรม หรือโครงการขนาดเล็ก ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกิจกรรม หรือโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ

 

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ ได้ศึกษาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของโครงการและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อวิเคราะห์โครงการด้านเทคนิค การก่อสร้าง งบประมาณ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ สังคม สภาพแวดล้อม และสภาวะนิเวศ

 

เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดเวทีเสวนาประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ อย่างน้อย 2 ครั้ง

 

ประกอบด้วย การเผยแพร่ข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการ ลักษณะที่ตั้งโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ การวางผังและรูปลักษณ์โครงการ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง