รีเซต

ไวรัสโคโรนา : สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์

ไวรัสโคโรนา : สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์
บีบีซี ไทย
2 เมษายน 2563 ( 09:21 )
201
ไวรัสโคโรนา : สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์

ครบหนึ่งสัปดาห์หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. หวังควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทว่าอัตราการพบผู้ป่วยหน้าใหม่ในไทยกลับไม่ลดลง เป็นผลให้ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดต้องใช้อำนาจ "พ่อเมือง" สั่งยกระดับความเข้มข้นของมาตรการสกัดโควิด-19 เอาเอง

การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมออก "ข้อกำหนด" ชุดแรกไว้ 16 ข้อ เพื่อระบุถึงสิ่งที่คนไทย "ห้ามทำ-ให้ทำ-ควรทำ"

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. เตรียมประเมินการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังครบเดือน ทว่าในระหว่างนี้ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดได้ชิงออกประกาศยิบย่อย "ไปก่อน ไม่รอแล้วนะ"

สถิติที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวม 5 ประเด็นน่ารู้มาไว้ที่นี้

เกิดผู้ป่วยหน้าใหม่ 937 รายในรอบสัปดาห์

ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไทยมีผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 25 มี.ค. ตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ) จำนวน 934 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 860 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 70 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย

ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 1 เม.ย. เพิ่มเป็น 1,771 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,417 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 342 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย

นั่นหมายความว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 937 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

แต่ละวันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ยังเป็นตัวเลข "ทะลุร้อย" ยกเว้นวันที่ 27 มี.ค. ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 91 ราย ส่วนวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 29 มี.ค. ด้วยตัวเลข 143 ราย

  • 26 มี.ค. 111 ราย
  • 27 มี.ค. 91 ราย
  • 28 มี.ค. 109 ราย
  • 29 มี.ค. 143 ราย
  • 30 มี.ค. 136 ราย
  • 31 มี.ค. 127 ราย
  • 1 เม.ย. 120 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ. และโฆษก ศบค. ระบุว่า เหตุที่ยอดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ยังเป็นหลักร้อยทุกวัน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในที่พักอาศัยยังสูงอยู่ จึงมีคำแนะนำให้ประชาชนเคร่งครัดกับการปฏิบัติตามคำขวัญ "กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ สวมใส่หน้ากากแม้อยู่ที่บ้าน และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร" เพราะถ้ามีสมาชิกในบ้านมากกว่า 1 คน ให้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อีกคนมีโอกาสติด เช่น อีกคนอาจออกไปซื้อของนอกบ้าน

ยอดผู้ป่วยสะสมในไทย "ทะลุพัน" ครั้งแรกเมื่อ 26 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ

กรมควบคุมโรค สังกัด สธ. คาดหวังว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "จะช่วยหน่วงสถานการณ์" ให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยไม่ถึง 3,500 คนในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.

เหลือแค่ 17 จังหวัดยังปลอดเชื้อ

ในขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะงัด "ยาแรง" มาใช้หรือไม่ในช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ข้อมูลที่ส่งตรงถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ได้กระจายอยู่ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ทว่าในวันแรกของเดือน เม.ย. ไวรัสมรณะได้ลุกลามไปยัง 60 จังหวัด หรือเพิ่มขึ้น 13 จังหวัด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษก ศบค. อธิบายผ่านแผนผังสถิติโควิด-19 ระหว่างวันที่ 25-31 มี.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่าในพื้นที่ 13 จังหวัดนี้ ไม่เคยพบผู้ป่วยเลยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐไทยต้องสั่งปิดสถานที่เสี่ยงตามจังหวัดต่าง ๆ

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 850 ราย รองลงมาคือ นนทบุรี 104 ราย, สมุทรปราการ 72 ราย, ภูเก็ต 71 ราย, ชลบุรี 47 ราย และยะลา 35 ราย ทั้งนี้โฆษก ศบค. ระบุว่า จากการประเมินผู้ป่วยใน กทม. พบว่ามีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้แวดล้อมได้ 1 ต่อ 3 คน จึงถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก

ถึงขณะนี้มีเพียง 17 จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ "ปลอดเชื้อ" โควิด-19 ตามคำแถลงของ ศบค. เมื่อ 1 เม.ย. ซึ่งบีบีซีไทยเข้าใจว่าตัวเลขนี้หมายรวมถึงจังหวัดที่เคยพบผู้ป่วย แต่รักษาหายกลับบ้านได้แล้วด้วย

BBC

ภูเก็ต-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ชิง "ล็อกดาวน์"

แม้คำสั่ง "ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน" ยังไม่ปรากฏตาม "ข้อกำหนด" ชุดแรกของรัฐบาล แต่ผู้ว่าฯ อย่างน้อย 4 จังหวัดได้ใช้อำนาจตามมาตรา 22 และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออก "คำสั่งจังหวัด" ให้ "ปิดเมือง" ห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย

จังหวัดที่สั่ง "ล็อกดาวน์" ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการแพร่กระจายของคนไทยที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เคยระบุไว้ว่า พี่น้องมุสลิมที่กลับมาจากมาเลเซีย แล้วมาร่วมพิธีละหมาด "ไม่ได้ทำการเว้นระยะห่างทางสังคมดีพอ จึงมีผู้ป่วยเกิดขึ้นประปราย"

  • ปัตตานี : ปิดเมืองตั้งแต่ 28 มี.ค. จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
  • นราธิวาส : ปิดเมืองตั้งแต่ 29 มี.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
  • ยะลา : ปิดเมืองตั้งแต่ 29 มี.ค.
  • ภูเก็ต : ปิดเกาะ หยุดสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำตั้งแต่ 30 มี.ค.-30 เม.ย. ส่วนการปิดสนามบินเพื่อหยุดการสัญจรทางอากาศ จะเกิดขึ้นในวันที่ 10-30 เม.ย.

ภายใน 2 วันนี้ พังงาจะเป็นอีกจังหวัดที่ออกคำสั่งปิดเมืองตามการเปิดเผยของผู้ว่าฯ เมื่อ 1 เม.ย. โดยตั้งเป้ารักษาความเป็น "พื้นที่สีขาว" ไว้ให้ได้ เพราะขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค

อย่างไรก็ตามคำสั่ง "ปิดเมือง" ของจังหวัดต่าง ๆ ได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รถกู้ชีพ/กู้ภัย/รถพยาบาล หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าฯ อีก 2 จังหวัดชายแดนประกาศ "ปิดพรมแดน" ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่มีกำหนดคือ สระแก้ว และ ตาก

17 จังหวัดประกาศ "เคอร์ฟิว-เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อ"

เช่นเดียวกับคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ที่ส่วนกลางยังไม่ขยับ โดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบด้านความมั่นคงฯ ศบค. เคยให้เหตุผลไว้ว่า "เชื้อโรคไม่มีเวลา ไม่มีหยุด" ทว่าพ่อเมืองอย่างน้อย 4 จังหวัดได้ออก "ประกาศจังหวัด" ขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหะสถานกันแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะที่อีกอย่างน้อย 13 จังหวัดเลือกออก "คำสั่งจังหวัด" หรือ "คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด" ให้เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อแทนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 34(7) และ 35(2)(3) ของกฎหมายฉบับเดียวกัน หลังพบพฤติกรรมประชาชนบางส่วนที่ยังตั้งวงก๊งเหล้าในช่วงค่ำ ไม่ให้ความร่วมมือตามมาตรการ "เว้นระยะห่างทางสังคม"

วันที่

จังหวัด

เวลา

งดออกนอกเคหะสถาน

28 มี.ค.

ภูเก็ต

20.00-03.00 น.

31 มี.ค.

นนทบุรี

23.00-05.00 น.

1 เม.ย.

พิษณุโลก

23.00-05.00 น.

1 เม.ย.

แม่ฮ่องสอน

22.00-04.00 น.

ปิดร้านสะดวกซื้อ/ร้านที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

25 มี.ค.

เพชรบูรณ์

00.01-04.49 น.

26 มี.ค.

อุดรธานี

22.01-04.59 น.

27 มี.ค. .

มุกดาหาร

22.01-04.59 น

27 มี.ค.

ฉะเชิงเทรา

23.00-05.00 น.

30 มี.ค.

ชลบุรี

22.00-05.00 น.

31 มี.ค.

ปราจีนบุรี

23.00-05.00 น.

1 เม.ย.

สุโขทัย

22.01-04.59 น.

1 เม.ย.

สุรินทร์

22.01-04.59 น.

1 เม.ย.

สมุทรปราการ

23.00-05.00 น.

1 เม.ย.

สุราษฎร์ธานี

24.00-05.00 น.

2 เม.ย.

กทม.

00.01-05.00 น.

2 เม.ย.

สระแก้ว

23.01-04.59 น.

4 เม.ย.

พังงา

22.00 -04.00 น.

หมายเหตุ : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. โดยวันที่ข้างต้นเป็นวันที่มาตรการมีผลบังคับใช้และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดได้เริ่มมาตรการตั้งแต่ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตร. เอาผิดจริง จับคนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า จะใช้เวลา 1 เดือนในการประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่บอกใบ้ว่า "ยังไม่มีแนวโน้มจะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน" สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออาจผ่อนผันให้หากสถานการณ์ดีขึ้น หรือเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้นหากสถานการณ์เลวลง

ภายใต้ "ข้อกำหนด" ชุดแรกจำนวน 16 ข้อ มีอยู่ 5 ข้อที่เป็น "ข้อห้าม" พร้อมกำหนดบทลงโทษรุนแรง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

1) ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามคำสั่ง/ประกาศของผู้ว่าฯ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

  • ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม 19 คดี รวมผู้ต้องหา 88 ราย จากการลักลอบเปิดสถานบริการ, ร้านนวดสปา, ร้านอาหาร, ร้านเกมส์ และบ่อนการพนัน

2) ห้ามคนทั้งหลายเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคล 5 ประเภท

  • ไม่ปรากฏข้อมูลผู้กระทำความผิด

3) ห้ามกักตันสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม และยึดของกลางได้ดังนี้ หน้ากากอนามัย 1.3 ล้านชิ้น มูลค่า 9.3 ล้านบาท, ไข่ไก่ 6.1 แสนฟอง มูลค่า 2.2 บาท, แอลกฮอล์เจล 1,200 ขวด และแอลกฮอล์ 41 ถัง จำนวนปริมาตร 276.04 ลิตร

4) ห้ามชุมนุม

  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • ไม่ปรากฏข้อมูลผู้กระทำความผิด

5) ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข้อความข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อันเป็นเท็จ

  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม 19 คดี รวม ผู้ต้องหา 25 คน

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำแถลงของ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อ 1 เม.ย.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง