รีเซต

คน-สัตว์เลี้ยง อยู่ร่วมกันช่วงโควิด

คน-สัตว์เลี้ยง อยู่ร่วมกันช่วงโควิด
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 10:55 )
125

 

โควิด – ทราบหรือไม่ว่า จากผลสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัดประมาณ 350,000 ตัว 10 ปีต่อมาพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยในปี พ.ศ.2560 พบสุนัขจรจัดถึงประมาณ 820,000 ตัว กระทั่งกรมปศุสัตว์คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัดถึงประมาณ 1.92 ล้านตัว และจะมากถึง 5 ล้านตัวในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้งหรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร บทลงโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

 

กระนั้น สาเหตุที่ทำให้มีสุนัขและแมวจรจัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งยังคงมาจากการถูกทอดทิ้งโดยผู้เป็นเจ้าของ ยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด หลายคนมีความวิตกกังวลกับเรื่องดังกล่าว

 

ผศ.ดร.สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่าสุนัขและแมวเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่ควรทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง และหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่แนะนำให้นำสัตว์เลี้ยงไปฝากตามสถานรับฝากสัตว์เลี้ยง เพราะอาจสร้างความเครียดให้กับสัตว์ได้

 

สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่กันอย่างหนาแน่น อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ จึงควรล้างมือทั้งก่อน และหลังการสัมผัสตัวสัตว์ และทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

 

“ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด อยากให้รักษาสุขอนามัยกันให้ดีทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เพื่อตัวเองและสัตว์เลี้ยงที่ท่านรัก ที่สำคัญไม่ควรทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน คนและสัตว์ไม่ทอดทิ้งกัน” คณบดีทิ้งท้าย

 

 

อย่างไรก็ตาม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังดำเนินโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสวัสดิภาพสุนัขจรจัด “บ้านรักหมาศาลายา” ไม่ทอดทิ้งสุนัขที่อยู่ในความดูแล แม้ว่าช่วงโควิดระบาดจะต้องปิดเยี่ยมชม และงดกิจกรรมจิตอาสา แต่ยังเปิดรับบริจาคสำหรับผู้ที่มีจิตเมตตาต่อสัตว์ ติดต่อ 09-9330-2424 หรือ FB: บ้านรักหมาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง