รีเซต

เปลี่ยนชื่อกรุงเทพ จาก " Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" แล้ว "กรุงเทพมหานคร" แปลว่าอะไร

เปลี่ยนชื่อกรุงเทพ จาก " Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" แล้ว "กรุงเทพมหานคร" แปลว่าอะไร
Ingonn
17 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:25 )
8K

กลายเป็นกระแส หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบตาม ราชบัณฑิตยสภา เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงภาษาอังกฤษ ด้วยการเปลี่ยนชื่อกรุงเทพ จาก " Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" ตามร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2544 และให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

 

วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักคำว่า "กรุงเทพมหานคร" หรือในชื่อภาษาอังกฤษ "Krung Thep Maha Nakhon" ว่ามีความหมายอย่างไร และ "Bangkok" มาจากไหน 

 

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย ไม่มีสถานะเป็นจังหวัด ถือเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การเงิน การศึกษา คมนาคม การท่องเที่ยว ศาสนา โดยเคยมีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็น เป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ ติดอันดับโลก เนื่องจากมีความหลากหลายของแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสถานบริการความบันเทิง อย่างถนนข้าวสาร

 

 

"กรุงเทพมหานคร" หรือ "Krung Thep Maha Nakhon" มีความหมายว่าอะไร

"...กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์..." ใครๆก็อาจจะเคยได้ยินคำนี้กันมาบ้างแล้ว

 

คำว่า "กรุงเทพมหานคร" แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร" มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ มีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้"

 

โดยนามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์ ข้างต้น

 

กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก แปลความเป็นภาษาอังกฤษว่า "City of angels, great city of immortals, magnificent city of the nine gems, seat of the king, city of royal palaces, home of gods incarnate, erected by Visvakarman at Indra's behest."

 

หรือชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ "Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit" ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลก

 

 

คำว่า "Bangkok" มาจากไหน 

ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า ชื่อภาษาอังกฤษของกรุงเทพมหานครสามารถเขียนได้ 2 คำ คือ "Krung Thep Maha Nakhon" และ "Bangkok" ซึ่งคำว่า "Bangkok" มาจากการทับศัพท์คำว่า "บางกอก" เป็นภาษาฝรั่งเศส  ซึ่งพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันชาวต่างชาติยังคงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเรียกชื่อเมืองอยู่

 

ที่มาของคำว่า "บางกอก" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก

 

 

"กรุงเทพ​มหานคร" ใช้ได้ทั้ง “Krung​Thep​ Maha​ Nakhon​“ และ ”Bangkok”

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองและเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

 

ทั้งนี้หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง แล้ว จะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป

 

ส่วนคำว่า  "กรุงเทพ​มหานคร" ยังคงใช้ว่า “Krung​Thep​ Maha​ Nakhon​“ หรือ ”Bangkok” ได้เช่นเดิม

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง