เปิดไทม์ไลน์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนเกิดสงครามเย็นในครม.!
กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีทีท่าว่ายังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ แน่นอน เนื่องจากล่าสุดรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยทั้ง 7 คน พร้อมใจกันไม่เข้าร่วมพิจารณาขยายสัมปทาน และร่วมทุนกับ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ อยู่เลย
มติชนออนไลน์ ขอย้อนไทม์ไลน์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พบปมปัญหาก่อนจะเกิดสงครามเย็นในคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดที่ผ่านมา
-เมื่อวันที่ 27 พ.ย.51 ครม.มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ก่อสร้างงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 25 กม.
-เมื่อวันที่ 9 มี.ค.53 ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในหลักการของการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ เป็น หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง
-ต่อมา ในเดือน มี.ค.59 เริ่มดำเนินการก่อสร้างจากช่วงหมอชิต ไปจนถึง คูคต
-เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ครม.มีมติเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ของรฟม.ให้กทม.รวมถึงเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ
-สำหรับการก่อสร้าง ได้แบ่งการดำเนินการเป็นช่วงๆ
*ในช่วงที่ 1 เมื่อปี 62 ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการ 1 สถานี คือ ช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว
*ช่วงที่ 2 เมื่อปี 62 เปิดเดินรถต่อจากห้าแยกลาดพร้าว-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
*ช่วงที่ 3 เมื่อปลายปี 63 ได้เปิดให้บริการตลอดเส้นทาง (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 1 ปี
-ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.63 ถอนวาระออกสู่การพิจารณาของครม.
-ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ก.คมนาคมค้านแนวทางต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส
-ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการพิจารณานำวาระการขอขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
-ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ก.มหาดไทยเสนอวาระเสนอต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่นายกฯสั่งศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ ด้านคมนาคมอ้าง 4 เหตุผลเดิม
-ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.65 รัฐมนตรีทั้งหมด 7 คนจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งไม่เข้าร่วมการประชุมครม. เพื่อคัดค้านที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี บริษัทในเครือ บีทีเอส ออกไปเพื่อแลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย
ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังเปิดให้บริการฟรี รวมถึง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้บริหารโครงการนี้ ได้จ้างบีทีเอสเดินรถ ช่วงสถานีแบริ่ง-เคหะฯ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แต่ปัจจุบันยังค้างค่าเดินรถฯ จึงเป็นเหตุให้ กทม. เป็นหนี้ บีทีเอส กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท!!