รีเซต

สงครามภาษี หรือ สงครามอำนาจ ทำไมจีนถึงโดนเล็งจากรัฐบาลทรัมป์

สงครามภาษี หรือ สงครามอำนาจ ทำไมจีนถึงโดนเล็งจากรัฐบาลทรัมป์
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2568 ( 14:15 )
9

สงครามภาษี หรือ ศึกชิงขั้วอำนาจโลกเมื่อ "จีน" คือเป้าหมายแท้จริงของสหรัฐฯ

แม้สหรัฐฯ จะประกาศระงับมาตรการภาษีตอบโต้ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นเวลา 90 วัน แต่กลับยกเว้น "จีน" ที่ยังคงเผชิญกับภาษีรวมสูงถึง 145% สถานการณ์นี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ข้อพิพาททางการค้า หากแต่เผยให้เห็นเบื้องหลังที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ "การเผชิญหน้าระหว่างสองขั้วอำนาจโลก" ที่เริ่มรุกคืบจากสนามเศรษฐกิจ ไปสู่การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และทรัพยากรโลก

จีน : คู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่แค่คู่ค้า

รายงานจาก Capital Economics ชี้ชัดว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเพียงการตอบโต้การเกินดุลการค้าของจีนเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ กำลังมองว่าจีนคือ "ภัยคุกคามเชิงยุทธศาสตร์" ที่ท้าทายอำนาจของวอชิงตันในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางเทคโนโลยี ไปจนถึงการควบคุมทรัพยากรสำคัญของโลก

โลกกำลังเข้าสู่ยุค "แยกขั้วทางเศรษฐกิจ" (Economic Decoupling)

ความขัดแย้งนี้สะท้อนพลวัตใหม่ของโลก ที่กำลังแตกออกเป็น ขั้วอำนาจหลัก คือ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการแยกตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายด้าน ได้แก่

  • ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) : ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่ Apple เริ่มย้ายฐานการผลิต iPhone จากจีนไปยังอินเดีย
  • ความสัมพันธ์ด้านการค้า : การค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจมีแนวโน้ม "หดตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ"
  • การไหลของเงินทุนระหว่างประเทศ : สหรัฐฯ ออกนโยบาย America First Investment Memorandum เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากพันธมิตร และจำกัดทุนจากจีน

จีนตอบโต้ด้วย "อาวุธแร่หายาก" พลิกเกมทรัพยากรโลก

จีนไม่ได้นิ่งเฉยต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ แต่กลับใช้ "แร่หายาก" (Rare Earth) ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นเครื่องมือต่อรอง โดยควบคุมการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อราคาตลาดโลก เพราะจีนถือครองแหล่งแร่เหล่านี้มากที่สุดในโลก รวมถึงมีอิทธิพลผ่านพันธมิตรในแอฟริกาและละตินอเมริกา

การเมืองสหรัฐฯ เอกภาพในนโยบายต้านจีน

แม้ภายในสหรัฐฯ จะมีความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเด็น แต่เมื่อนโยบายเกี่ยวกับจีนกลับเห็นพ้องต้องกันทั้งสองพรรคการเมืองหลัก นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำในอนาคต ท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงที่รออยู่ : จากสงครามภาษี สู่การกีดกันในระดับรุนแรง

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากสหรัฐฯ เดินหน้าตามแนวทางนี้โดยขาดการประสานงานกับพันธมิตร อาจทำให้ "ข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์" ของตัวเองลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะลุกลามจากมาตรการภาษีไปสู่ การกีดกันรูปแบบอื่น ๆ ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง