รีเซต

เอ็กซิมแบงก์ ออก สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร กู้ได้สูงสุด 25% จากยอดขายปีล่าสุด

เอ็กซิมแบงก์ ออก สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร กู้ได้สูงสุด 25% จากยอดขายปีล่าสุด
มติชน
23 มิถุนายน 2564 ( 16:14 )
109
 

นาย รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) กล่าวว่า ทางรอดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ไทย ได้แก่ การเข้าไปเชื่อมโยงในวงจรการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก คือ การยกระดับไปเป็นผู้ส่งออก ซึ่งแนวทางนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ส่วนแนวทางที่สอง สามารถทำได้ทันที ได้แก่ การสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของผู้ส่งออก โดยให้ธุรกิจส่งออกที่มีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซัพพลายเชน ค้ำจุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นและยาวนานภายใต้ ซัพลายเชนที่แข็งแรงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมี เอสเอ็มอีไทยจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน ผู้ส่งออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากภาคส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศถึงเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกรวม

 

 

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ ซัพพลายเชนของโลก เปลี่ยนไปในหลายมิติและทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้า รูปโฉมการค้าเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากแหล่งใกล้ ๆ มากขึ้น มีการนำระบบอัตโนมัติ มาใช้มากขึ้นเพื่อลดการสื่อสารระหว่างแรงงานในกระบวนการผลิต ต้องวางแผนขนส่งหลากหลายช่องทาง รวมทั้งทำประกันและปรับเทอมการค้าให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การขายสินค้าใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น และสินค้าต้องสอดรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลก มีความโดดเด่นน่าจดจำ เพื่อสร้างการจดจำและความจงรักภักดีต่อแบรนด์

 

 

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า จากนโยบาย Dual-track Policy ได้แก่ การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการให้บริการครบวงจรเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอี ให้เป็นผู้ส่งออกมืออาชีพเอ็กซิมแบงก์ จึงพร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอี ไทยให้เข้าสู่หรือเชื่อมโยงกับซัพพลายเชน ในวงจรการค้าระหว่างประเทศ ด้วยบริการใหม่ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เป็นซัพพลายเออร์ ของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม สามารถนำใบแจ้งหนี้ มาใช้ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ได้ วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ ผู้ประกอบการรายใหญ่ บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร ขณะที่ผู้ประกอบรายใหญ่ ซึ่งเป็นลูกค้าเอ็กซิม จะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า โดยธนาคารตั้งเป้า 4 ปี จะสนับสนุนเอสเอ็มอีส่งออกต่างประเทศให้ถึง 1 แสนราย

 

 

ส่วนต้นแบบซัพพลายเชน ที่แข็งแกร่งภายใต้การสนับสนุนของ เอ็กซิมแบงก์ ได้แก่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออก-นำเข้าและศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรของไทย ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายกว่า 270,000 รายการ และมี ซัพพลายเออร์ ใน ซัพลายเชน เป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัท วิชั่น กลาส แอนด์ ดอร์ อินดัสเทรียล จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประตูและกระจกตกแต่งบ้าน บริษัท คาร์ชายน์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ บริษัท อุดร เก้าเจริญทรัพย์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายไม้แปรรูปจากต่างประเทศ บริษัท เอ็ม.เจ.พาราวู๊ด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ บริษัท ว.พลาสติก (2002) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก

 

 

“การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มต้นที่ฐานราก กล่าวคือ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเงินทุนและอำนาจต่อรอง โดยอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย กระตุ้นให้เกิดการค้าและธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยตลอดทั้ง ซัพพลายเชนเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความแข็งแกร่งและพร้อมเริ่มต้นกับโอกาสครั้งใหม่หลังวิกฤตโควิด-19” นายรักษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง