โควิด-19 : ไอเอ็มเอฟ คาดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดจะทำเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 3% จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Great Depression ในช่วงทศวรรษที่ 1930
ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า โรคระบาดครั้งนี้ได้ฉุดให้โลกเข้าสู่ "วิกฤตการณ์ที่ไม่เหมือนวิกฤตครั้งใด ๆ" พร้อมกันนี้ยังชี้ว่า การระบาดที่ยืดเยื้อจะเป็นบททดสอบความสามารถในการควบคุมสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล และธนาคารของประเทศต่าง ๆ
- วิกฤตโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเลวร้ายสุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
- ธนาคารโลกคาดพิษโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก
- ธุรกิจขาขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงผลพวงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นางกีตา โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เป็นมูลค่าราว 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 288 ล้านล้านบาท)
"การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่"
แม้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ของไอเอ็มเอฟจะชื่นชมการตอบสนองอย่าง "รวดเร็วและขนานใหญ่" ของหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ชี้ว่าจะไม่มีชาติใดที่รอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% ในปี 2021 หากวิกฤตโรคระบาดคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นางโกพินาถ ระบุว่า "การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่" ในปัจจุบันก่อให้เกิด "ความเป็นจริงที่น่ากลัว" สำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศที่ต้องเผชิญกับ "ความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของความชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น"
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นบางส่วนในปี 2021 "แต่ตัวเลขจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวโน้มที่คาดไว้ในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตไวรัสระบาด อีกทั้งจะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากเรื่องความแข็งแกร่งในการฟื้นตัว"
ในสหราชอาณาจักรนั้น ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวถึง 6.5% ในปี 2020 จากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค.ว่าจะตัวเลขจีดีพีจะเติบโตที่ 1.4%
ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบเกือบหนึ่งศตวรรษ และรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลก ที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหดตัวไปกว่า 4.2%
ส่วนโครงการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรช่วยจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานที่ถูกพักงานชั่วคราว (furlough) เพื่อให้พนักงานเหล่านี้ไม่ตกงานในช่วงที่รัฐใช้มาตรการปิดเมืองนั้น คาดว่าช่วยจำกัดอัตราการว่างงานให้อยู่ที่ระดับ 4.8% ในปี 2020 จากเมื่อปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3.8%
ก่อนหน้านี้ นายริชี่ สุนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศจะให้เงินสนับสนุนเงินเดือนลูกจ้างมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ รวมทั้งช่วยค้ำประกันเงินกู้เพื่อให้ลูกจ้างและธุรกิจต่าง ๆ ผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงปิดเมืองไปได้
สาหัสทั่วโลก
นางโกพินาถ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ช่วง Great Depression ที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างมีแนวโน้มจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ไอเอ็มเอฟเตือนว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะไม่กลับคืนสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตไวรัสระบาดจนกว่าปี 2022 เป็นอย่างน้อย
ในสหรัฐฯ ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัวไปอยู่ที่ระดับ 5.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ปี 1946 ส่วนอัตราว่างงานคาดว่าจะทะยานไปแตะระดับ 10.4%
คาดว่าในปี 2021 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวเป็นบางส่วน โดยมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 4.7%
ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.2% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวช้าที่สุดของประเทศนับแต่ปี 1976 ขณะที่ออสเตรเลีย คาดว่าจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1991
ไอเอ็มเอฟเตือนว่า "มีความเสี่ยงสูงที่ผลลัพธ์จริงจะแย่กว่าที่ประเมินไว้"
โดยชี้ว่า หากการระบาดของโรคโควิด-19 ใช้เวลาในการควบคุมนานกว่าที่คาด และมีการระบาดระลอกสอง ใน ปี 2021 ก็จะสร้างความเสียหายต่อตัวเลขจีดีพีโลกเพิ่มอีก 8%
นอกจากนี้ยังระบุว่า รูปการเช่นนี้อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ในประเทศที่มีหนี้สูงเลวร้ายลงไปอีก เพราะนักลงทุนอาจไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องกู้เงินในอัตราที่สูงขึ้น
การเยียวยาเศรษฐกิจ
แม้การใช้มาตรการปิดเมืองที่ยาวนานขึ้นจะยิ่งจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ไอเอ็มเอฟบอกว่า มาตรการให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อ และช่วยให้ระบบสาธารณสุขรับมือกับผู้ป่วยได้ รวมทั้งช่วยเปิดทางให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้เร็วขึ้นและคึกคักอีกครั้ง
พร้อมชี้ว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนและความต้องการในธุรกิจบริการที่ลดลงในขณะนี้อาจเลวร้ายลง หากเกิดการระบาดครั้งใหญ่โดยที่ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม
ไอเอ็มเอฟ แนะเรื่องสำคัญ 4 ประการที่ต้องจัดการในวิกฤตไวรัสระบาดครั้งนี้ คือ
- ให้มีการอัดฉีดเงินในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
- ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ลูกจ้างและธุรกิจต่าง ๆ
- ให้ธนาคารกลางมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป
- ให้มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจน
ไอเอ็มเอฟ เรียกร้องประชาคมโลกให้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและแจกจ่ายการรักษาและวัคซีนป้องกันโรคระบาดนี้ รวมทั้งอาจต้องมีการบรรเทาหนี้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ด้วย