รีเซต

นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม ชี้เสียหายป่นปี้ทุกฝ่าย

นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม ชี้เสียหายป่นปี้ทุกฝ่าย
ข่าวสด
20 พฤษภาคม 2564 ( 22:41 )
83
นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม ชี้เสียหายป่นปี้ทุกฝ่าย

นายกฯสิงคโปร์แนะจีน-สหรัฐฯเลี่ยงสงคราม - วันที่ 20 พ.ค. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เรียกร้องให้ทางการจีนและสหรัฐฯ หันหน้ามาร่วมมือกันแม้จะไม่ไว้ใจกันก็ตาม และหลีกเลี่ยงการทำสงครามใหญ่ต่อกัน เพราะจะส่งผลเสียหายอย่างสุดขั้วต่อทุกฝ่ายทั่วทั้งโลก

 

 

คำกล่าวของผู้นำสิงคโปร์มีขึ้นระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลกทางออนไลน์ (จีเอฟอีอาร์) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยนายลี ระบุว่า หากสหรัฐฯ และจีนปะทะกันด้วยกำลังทางทหาร ทุกอย่างบนโลกก็จะพังพินาศ

 

 

"บรรยากาศทั่วโลกจะเต็มไปด้วยความตึงเครียด เกิดความหวาดระแวงไปทั่วโลก เป็นสถานการณ์ที่แย่ ไม่ใช่แย่แต่เฉพาะชาติน้อยใหญ่ แต่แย่กับทั้งสหรัฐฯและจีนด้วย" ลี ระบุ

 

 

ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า ทั้งสหรัฐฯและจีนนั้นเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและกองทัพมหาศาล หากรบพุ่งกันในสงครามใหญ่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้

 

 

นายลี กล่าวแนะนำว่า ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหันหน้ามาทำงานร่วมกัน และยอมรับอีกฝ่ายให้ได้ โดยมหาอำนาจทั้งสองชาติจะต้องทำงานร่วมกันในหลายปัญหา อาทิ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สาธารณสุข และโรคระบาดในอนาคต

 

 

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ การตอบโต้กันด้วยมาตรการกำแพงภาษีสินค้า การขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีหลายด้าน

 

 

รวมทั้งข้อครหาว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ ตลอดจนข้อครหาเรื่องต้นตอของโรคระบาดอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

 

 

นอกจากนี้ ทั้งสองชาติยังบาดหมางกันกรณีการอ้างสิทธิครอบครองทะเลจีนใต้ของทางการจีน การแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำฮ่องกง และข้อครหาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง ถึงขั้นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์

 

 

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งกองทัพจีนและสหรัฐฯ ยังยกระดับความเคลื่อนไหวในพื้นที่ทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวัน ก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค และเพิ่มความเสี่ยงที่ทั้งสองฝ่ายจะปะทะกันด้วยกำลังรบทางทหาร

 

 

นายลี กล่าวย้ำว่า ทางการสหรัฐฯ กับจีนจะต้องผสานความบาดหมางระหว่างกัน รวมทั้งผสานแนวคิดทางการเมืองท้องถิ่นของตัวเองแต่ละฝ่ายด้วย

 

 

"แนวคิดทางการเมืองท้องถิ่นของแต่ละฝ่ายที่ผมพูดถึง คือ ทั้งสองฝ่ายต้องเลิกแนวคิดตามสัญชาติญาณชาตินิยม ต้องหันมาคิดว่า เราจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติเรา ด้วยการหันมาทำงานร่วมมือกัน"

 

 

ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า "สองฝ่ายต้องมีจิตใจตั้งมั่นว่า ไม่ว่าจะไว้ใจกันหรือไม่ เป็นเพื่อนรักของเรารึเปล่า แต่เราต่างก็ต้องเป็นพาร์ทเนอร์กันบนดาวเคราะห์โลกดวงนี้ครับ"

 

 

รายงานระบุว่า ความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงในระดับรัฐบาลของสหรัฐฯ กับจีนนั้นยังส่งผลลุกลามไปถึงมุมมองของคนอเมริกันและชาวจีนด้วย สะท้อนจากผลสำรวจของ Pew Research Centre

 

 

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า 9 ใน 10 ของคนอเมริกัน มองว่า จีนเป็นคู่แข่ง หรือถึงขั้นศัตรู และชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินมาตรการกดดันทางการจีน เพื่อจัดการกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

 

 

เช่นเดียวกันในประเทศจีน กระแสความไม่พอใจสหรัฐฯ ของชาวจีนกำลังเริ่มแผ่ขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยชาวจีนมองว่า สหรัฐฯ พยายามขัดขวางไม่ให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหาร

 

 

นายหลิว เฉียง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน-สหรัฐฯ จากสถาบันสังคมศาสตร์ในจีน มองว่า คำกล่าวของนายลี เป็นสัญญาณว่าหลายชาติรวมถึงสิงคโปร์กำลังเริ่มไม่สบายใจต่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ

 

 

นายหลิว ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ทำสิ่งใดที่เป็นการยุตินโยบายการต่อต้านจีนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และบรรดาที่ปรึกษาชุดปัจจุบันก็แลดูจะสนับสนุนและต้องการให้ประธานาธิบดีไบเดนกลายเป็นแบบทรัมป์ไปอีกคน

 

 

"พฤติกรรมที่ว่านี้ทำให้ชาติอื่นในภูมิภาคกังวลใจ เพราะหากเกิดสงครามขึ้นมาก็จะเจองานหยาบ ต้องเลือกระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ ทั้งยังต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และไม่สามารถควบคุมได้อีกด้วย" นายหลิว ระบุ

 

 

นายโป๋ จื้อเหยว ผู้ก่อตั้งสถาบัน โป๋ จื้อเหยว คอยให้คำปรึกษาต่อเอกชนและรัฐบาลนานาชาติ ระบุว่า หลายฝ่ายตอนนี้กังวลที่สุดเรื่องการขาดกลไกการแก้ปัญหาระหว่างสองมหาอำนาจ

 

 

นายโป๋ กล่าวว่า กลไกข้างต้นเคยมีอยู่ช่วงสงครามเย็น เช่น โทรศัพท์สายตรงระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต แม้สายตรงระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีนจะมีอยู่ แต่กลับไม่เคยถูกนำมาใช้

 

 

กรณีดังกล่าวเคยถูกกล่าวถึงไว้โดยนายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานรัฐบาลสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดจีน ในแม็กกาซีน Foreign Policy ประจำเดือนพ.ค. ว่าทางการจีนไม่เคยให้ความสนใจต่อช่องทางข้างต้น

 

 

ด้านนายซ่ง จงผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจีน กล่าวตอบโต้ในบทความของ Global Times หนึ่งในสื่อที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าการที่จีนไม่ใช้ช่องทางดังกล่าวนั้นสืบเนื่องมาจากความไม่ไว้ใจจีนของสหรัฐ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกันทางโทรศัพท์

 

 

อย่างไรก็ตาม นายโป๋ ยืนยันว่า ทางการจีนไม่ควรหันหลังให้ช่องทางดังกล่าว เพราะถือเป็นกลไกการแก้ไขความขัดแย้งที่สำคัญมาก

 

 

"การไม่รับโทรศัพท์สายตรงระหว่างผู้นำ ถือว่าขัดหลักปฏิบัติสากลด้วยนะครับ เพราะความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจเนี่ยเข้าใจได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ มันไม่เหลือกลไกติดต่อ ไม่มีช่องทางไหนเหลือไว้คุยกันแล้วอ่ะดิครับ" โป๋ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง