รีเซต

วัคซีนอาร์เอ็นเอที่กำลังทดลองในสหรัฐฯ มีหวังใช้ได้ผล หลังพบสารภูมิต้านทานป้องกันโควิด-19 ในอาสาสมัครหลายคน

วัคซีนอาร์เอ็นเอที่กำลังทดลองในสหรัฐฯ มีหวังใช้ได้ผล หลังพบสารภูมิต้านทานป้องกันโควิด-19 ในอาสาสมัครหลายคน
บีบีซี ไทย
19 พฤษภาคม 2563 ( 16:33 )
223
1
วัคซีนอาร์เอ็นเอที่กำลังทดลองในสหรัฐฯ มีหวังใช้ได้ผล หลังพบสารภูมิต้านทานป้องกันโควิด-19 ในอาสาสมัครหลายคน

Getty Images

บริษัทโมเดอร์นา เทอราพิวติกส์ (Moderna Therapeutics) ซึ่งกำลังร่วมมือกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีชื่อว่า mRNA-1273 ได้แถลงถึงผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้น ซึ่งชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีขึ้นมาได้ในร่างกายของอาสาสมัครหลายคน

 

ความคืบหน้าล่าสุดทำให้เริ่มมีความหวังว่า วัคซีนชนิดนี้น่าจะมีศักยภาพสูงในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ในวงกว้าง โดยแอนติบอดีที่ตรวจพบหลังได้รับวัคซีนนั้น มีลักษณะเหมือนกับสารภูมิต้านทานที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งผ่านการติดเชื้อไวรัสของจริงแต่ฟื้นตัวหายป่วยแล้ว

 

วัคซีน mRNA-1273 ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า "เมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ" (mRNA) เป็นบางส่วน ซึ่งชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้จะไม่ก่อโรคเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย แต่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

 

ผลการทดลองเบื้องต้นนี้ มาจากการเริ่มทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะแรก ซึ่งเป็นการทดสอบความปลอดภัยกับอาสาสมัคร 8 คน จากที่จะเข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 45 คน ที่นครซีแอตเทิลของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการทดลองทางคลินิกของวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรกของโลก

 

ผลปรากฏว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของอาสาสมัครชุดแรกทั้ง 8 คน ได้สร้างแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสารภูมิต้านทานของคนไข้ที่หายป่วย ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้อาสาสมัครจะได้รับวัคซีนในปริมาณน้อยก็ตาม ส่วนอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนในปริมาณปานกลาง มีการสร้างแอนติบอดีในระดับที่สูงเกินจากสารภูมิต้านทานตามธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีการทดลองในระยะต่อไปกับอาสาสมัครจำนวนมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

 

ด้านทีมนักวิจัยของบริษัทไวร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology) และคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ประกาศว่าค้นพบแอนติบอดีที่มีความสามารถในการลบล้างฤทธิ์ไวรัส (Neutralization) ซึ่งใช้กับเชื้อก่อโรคโควิด-19 ได้ผลชะงัด โดยแอนติบอดีนี้มาจากคนไข้รายหนึ่งที่เคยป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส (SARS) เมื่อ 17 ปีก่อน

 

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า แอนติบอดีดังกล่าวซึ่งทีมผู้วิจัยเรียกว่า S309 สามารถจับกับโปรตีนที่ส่วนหนามของไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ที่ก่อโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไวรัสไม่สามารถใช้โปรตีนดังกล่าวเป็นกุญแจไขเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้

 

แอนติบอดี S309 ยังสามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสโคโรนาได้อีกหลายชนิด ซึ่งทีมผู้วิจัยหวังว่าอาจพัฒนาแอนติบอดีนี้เป็นทั้งวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคโควิด-19 หรือใช้ผสมร่วมกับแอนติบอดีชนิดอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์อ่อนกว่า เพื่อสังเคราะห์เป็น "ค็อกเทลแอนติบอดี" (Antibody Cocktail) ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคให้กับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง หรือรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มทำการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง