รีเซต

บราเดอร์ยังครอง 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ของไทย รุกตลาดด้วยกลยุทธ์ CSB 2024 ตั้งเป้าโต 14%

บราเดอร์ยังครอง 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ของไทย รุกตลาดด้วยกลยุทธ์ CSB 2024 ตั้งเป้าโต 14%
ข่าวสด
26 มีนาคม 2565 ( 18:43 )
30

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยด้านการผลิตยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่บราเดอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจต้องกำหนดมาตรการการทำงานแบบเว้นระยะห่าง ส่งผลให้สายงานการผลิตต้องควบคุมจำนวนพนักงานภายในโรงงานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการผลิตที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ด้านวัตถุดิบที่มีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการกระจายสินค้าเพื่อเติมเต็มความต้องการตลาดที่ยังเห็นสัญญาณการยังเติบโตอยู่ด้วยเช่นกัน

“ทั้งนี้ ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องพิมพ์ในปี 2564 ตามรายงานของ จีเอฟเค (GFK) ระบุว่า บราเดอร์ยังครองความเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างอัตราการเติบโตให้เกิดขึ้นใน 3 กลุ่มเครื่องพิมพ์จนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์อยู่ที่ 37.1%, กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 64.3%, กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 47.9% ทั้งยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และจากปัจจัยด้านวัตถุดิบทำให้เครื่องพิม์อิงค์แทงค์ของบราเดอร์ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดอยู่ที่ 20%” นายธีรวุธกล่าว

โดย 3 ปีต่อจากนี้ บราเดอร์ จะเดินหมากธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565-2567 ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance) และ Driving DX หรือการขับเคลื่อนด้าน Digital Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้พร้อมเติบโตคู่กับไปกับกระแสเทคโนโลยีที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“ความท้าทายของการทำธุรกิจในปี 2565 คือความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งสถานการณ์โรคระบาดกลายพันธุ์ เรื่องสงครามระหว่างประเทศ การถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจทั่วโลก นอกจากนี้ การคาดการณ์ด้านดีมานด์ที่แท้จริงของตลาดก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจเช่นกัน บราเดอร์เองต้องมีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถส่งมอบสินค้าที่ตลาดต้องการได้ถูกช่วงเวลา เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าและสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยตั้งเป้าการเติบโต 14% ในปีงบประมาณ 65”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง