รีเซต

เปิด 6 ปัจจัย ตาลีบัน จะครองอัฟกานิสถานรอดฝั่งหรือไม่?

เปิด 6 ปัจจัย ตาลีบัน จะครองอัฟกานิสถานรอดฝั่งหรือไม่?
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2564 ( 11:30 )
79
เปิด 6 ปัจจัย ตาลีบัน จะครองอัฟกานิสถานรอดฝั่งหรือไม่?

วันนี้( 24 ส.ค.64) แม้กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจ ครอบครองอัฟกานิสถานได้ แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก กว่าจะปกครองประเทศที่มีประชากร 38 ล้านคนที่ได้รับความเสียหายจากสงครามมานานนี้ ล่าสุดสำนักข่าวอัล จาซีรา เผยว่า การชนะสงครามนั้นอาจง่าย แต่การรักษาความสงบและปกครองประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและยากจนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งมี 6 ความท้าทายสำคัญที่กลุ่มตาลีบันต้องเตรียมพร้อมรับมือ ในการปกครองอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

1.การได้รับความยอมรับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดีอาชราฟ กานี ล้มเหลวในการทำตามความคาดหวังของประชาชน ไม่ได้มีการพัฒนามาตรฐานในการใช้ชีวิต บริการพื้นฐานต่างๆยังลำบากอยู่ เช่น ระบบสาธารณสุขและการศึกษา นอกจากนี้ ยังเต็มไปด้วยการทุจริต ขณะที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงก็ยังไม่ปลอดภัย จนทำให้ชาวอัฟกันหลายพันคนพยายามหาทางออกนอกประเทศ ผู้คนรู้สึกไม่พอใจและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้หมายความพวกเขายินดีต้อนรับกลุ่มตาลีบันในหลายพื้นที่ของอัฟกานิสถาน ประชาชนกำลังต้องเลือกระหว่างระบอบตาลีบันที่กดขี่ หรือรัฐบาลที่เอาแต่ได้ มากกว่าให้

2.กองกำลังที่ตึงตัวขึ้น

ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ตาลีบันสามารถยืดเมืองเอกของจังหวัดต่างๆได้ส่วนใหญ่ รวมถึงกรุงคาบูล โดยแทบไม่มีการต่อต้านของกองทัพ ตาลีบันเริ่มปฎิบัติการทางทหารในเดือนพฤษภาคม 

ซึ่งเป็นกำหนดที่กองทัพต่างชาติที่นำโดยสหรัฐฯเริ่มทยอยถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานตามข้อตกลงที่ลงนามกันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020

กองทัพอัฟกานิสถานไม่ยอมแพ้ก็ถอนตัว ปล่อยให้นักรบตาลีบันเดินเข้าเมืองทางตอนเหนือและตะวันตกได้อย่างสบายๆ ในตอนนี้ที่ตาลีบันสามารถควบคุมอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งหมดแล้ว 

แต่ตาลีบันมีนักรบน้อยกว่าหนึ่งแสนคน จึงหมายความว่า กำลังนั้นตึงตัว ซึ่งการยึดเขตใหญ่ๆได้หลายเมืองนั้นง่าย แต่การรักษาเมืองหลักเหล่านั้นเป็นอีกประเด็น และสิ่งที่ตาลีบันต้องการมากก็คือกำลังพล ยกตัวอย่างเช่น เขตชัคนัน ในจังหวัดบาดัคชาน ใช้นักรบตาลีบันเพียงหกคนในการยึดเมือง แต่เมืองนี้มีประชากรราว 60,000 คน กลุ่มตาลีบันได้ประกาศว่าจะนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล  เพราะต้องการรักษาเจ้าหน้าที่ให้ทำงานได้อยู่ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ตาลีบันต้องเพิ่มกำลังพลด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันเหตุก่อความไม่สงบและภาวะไร้ขื่อแปด้วย นอกจากนี้อดีตรองประธานาธิบดีอัมรุลลาห์ ซาเลห์ และอาห์หมัด มาสซูด ลูกชายของอาห์หมัด ชาห์ มาสซูด อดีตผู้บัญชาการกลุ่มทาจิค มูจาฮีดีนก็ประกาศพร้อมต่อสู้กับตาลีบันแล้ว

3.ธรรมาภิบาลในการปกครอง

ตาลีบันเก่งด้านการต่อสู้ จึงทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาจะปกครองประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแต่โครงสร้างพื้นฐานถูกละเลยนี้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตาลีบันยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้ทำเช่นนั้นตอนมีโอกาสปกครองอัหกานิสถาน และยังไม่ได้แสดงความสามารถในการปกครองเขตที่อยู่ภายใต้การดูแลของตาลีบันมาก่อนแล้ว

ที่ผ่านมา ตาลีบันได้รับความเชื่อถือเรื่องการรักษาความมั่นคง และการให้ความยุติธรรมแบบดั้งเดิม แต่ยังไม่ได้แสดงให้เห็นเรื่องการบริหารจัดการกลไกอื่นๆของรัฐบาล

นอกจากนี้ ตาลีบันจะเผชิญปัญหาการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพราะรัฐบาลมีรายได้ไม่มากพอสำหรับการใช้งานเพื่อบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาหลักในปัจจุบันนี้ และยังมีปัญหาอื่นๆอีกเช่น ทรัพยากรบุคคล ระบบราชการ และข้าราชการที่ทำงานให้รัฐบาล ท่ามกลางกระแสการอพยพออกนอกประเทศ นั่นหมายความว่า อาจมีคนทำงานมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามสถาบันต่างๆของรัฐไม่เพียงพอ

4.การควบคุมกำลังพลของตนเอง

การทำสงครามต่อต้านกองกำลังต่างชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของบรรดานักรบตาลีบัน เป็นที่น่าจับตาว่าเมื่อนักรบเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ว่าฯ หรือนายกเทศมนตรี ที่สามารถเข้าถึงแหล่งรายได้ และมีอำนาจ พวกเขาจะซ้ำรอยรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ผ่านๆมาหรือไม่ ที่ท้ายสุดก็ทุจริตและใช้อำนาจในทางที่ผิด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า ตาลีบันตระหนักความเสี่ยงเรื่องนี้ดี และใช้เวลามากกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา พัฒนาความสัมพันธ์ในองค์กรทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง เพื่อยกระดับการประสานงานกัน

5.ตราบาปในอดีต

กลุ่มตาลีบันเรืองอำนาจช่วงปี 1996 - 2001 พร้อมกับภาพความโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยและการละเมิดสิทธิสตรี ทำให้เมื่อยึดอำนาจได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่าน 

ตาลีบันกล่าวถึงเรืองเหล่านี้ โดยเฉพาะการเคารพบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ สิทธิมนุษยชน และสิทธิของชนกลุ่มน้อย แต่โลกก็กำลังเฝ้ารอดูเช่นกันว่า จะทำแบบที่พูดหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สหรัฐฯยังจับตาตาลีบันอย่างใกล้ชิดว่าจะรักษาคำมั่นที่จะไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นที่พักพิงของกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัล กออิดะห์และกลุ่มรัฐอิสลามหรือไม่

นักวิเคราะห์ระบุว่า ประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถานในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีรัฐบาลและระบอบที่ทั้งขึ้นและลง น้อยครั้งที่จะได้โอกาสครั้งที่สอง และแม้หากได้โอกาสรอบสอง ก็เป็นโอกาสอันสั้นๆ

ในเวลานี้ ตาลีบันเผชิญความท้าทายอย่างมากที่ต้องการความยอมรับด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ สิทธิของชนเผ่าและชนกลุ่มน้อย เสรีภาพสื่อและภาคประชาสังคมรวมไปถึงการแสดงให้โลกเห็นว่าตัดขาดกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ

6.เศรษฐกิจและการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ

อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และมากกว่า 20% ของรายได้รวม มาจากการช่วยเหลือจากต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯสั่งอายัดทรัพย์สินมูลค่า 9.5 พันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลอัฟกันที่ฝากไว้ในสหรัฐฯ ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศสั่งระงับการเข้าถึงกองทุนเพื่อการช่วยเหลือไปก่อน

ชาติตะวันตกอื่นๆอาจดำเนินรอยตาม ซึ่งจะทำให้ยากสำหรับรัฐบาลใหม่ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศที่การใช้จ่ายสาธารณะกว่า 75% นั้นมาจากเงินช่วยเหลือ ทรัพยากรแร่ที่มียังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพราะความไม่มั่นคงภายในประเทศเป็นอุปสรรคต่อการสำรวจและการลงทุนของต่างชาติ แม้ตาลีบันจันไปคุยกับจีนและรัสเซียในช่วยเรื่องโครงการด้านเศรษฐกิจต่างๆ แต่ยังคงต้องจับตาดูว่าจะเป็นรูปธรรมได้ขนาดไหน

นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังต้องการองค์กรเพื่อมนุษยธรรมต่างๆเข้ามาช่วยชาวอัฟกันมากกว่า 5 ล้านคนที่พลัดถิ่น ลำพังเฉพาะปีนี้มีคนพลัดพิ่นฐานแล้วกว่า 4 แสนคน แต่องค์กรเหล่านั้นรวมถึงสหประชาชาติต่างถอนตัวออกไปแล้วเพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

การที่จะปลดล็อคการช่วยเหลือจากต่างชาติ รัฐบาลตาลีบันจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ตอนนี้ตาลีบันยังติดบัญชีดำของสหประชาชาติอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง