ตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนเฟื่องฟู หลังคนหันมาดูแลสัตว์สุดน่ารัก แทนการมีลูก
สำนักข่าว SCMP รายงานว่า เศรษฐกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในจีนเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2020 มีมูลค่ากว่า 1.54 ล้านล้านบาท หลังคนรุ่นใหม่เลื่อนแผนการแต่งงาน-งดมีลูก
---ราบรื่นทุกอย่างเว้นแบ่งสิทธิ์เลี้ยง “น้องหมา”---
เหอ ฉี ครูสอนภาษาอังกฤษจากเมืองกวางโจว หย่าร้างเมื่อเดือนที่แล้ว เขาและภรรยาจัดการทรัพย์สินกันอย่างรวดเร็วและเป็นกันเอง แต่กลับไม่อาจหลีกหนีการทะเลาะครั้งใหญ่ เกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นที่รักของพวกเขาทั้งคู่ได้ นั่นคือ สุนัขที่เลี้ยงด้วยกัน
“พวกเขาเป็นลูกของผม และไม่ว่าจะอดเลี้ยงตัวไหน ผมคงเสียใจมาก” เหอวัย 36 ปี กล่าว ท้ายที่สุดพวกเขาตัดสินใจที่จะแยกกันดูแลคนละตัว
“เร็ว ๆ นี้ ผมคงไปรับสุนัขหรือแมวมาเลี้ยงเพิ่มอีกตัว เพราะไม่อยากให้ ‘ลูกชาย’ รู้สึกเหงา และผมคิดว่า อดีตภรรยาก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน” เขา กล่าว
---ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตในยุคโควิด---
หนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากเลือกที่จะแต่งงานช้าลง และชะลอการเป็นพ่อแม่ หรือเลือกที่จะไม่แต่งงานและมีลูกเลย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและความต้องการในชีวิตการทำงาน
ขณะเดียวกัน หลาย ๆ คนก็เลือกที่จะเลี้ยงแมวหรือสุนัข ทำให้ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงกลับมาเฟื่องฟู หลังประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญกับแนวโน้มของความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอลง
จากรายงานประจำปีของ China Pet Industry Association ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ปี 2020 จำนวนสุนัขและแมวเลี้ยงในเขตเมือง มีมากกว่า 100.8 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 1.7% จากปี 2019 และเพิ่มขึ้น 10.2% จากปี 2018
โดยปี 2020 ประชากรจีนเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงสูงถึง 62.94 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 62.8 ล้านคนในปี 2019 ขณะที่มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในเมืองของจีน อยู่ที่ 298.8 พันล้านหยวน (ราว 1.54 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 72.5 พันล้านหยวน (ราว 3.75 แสนล้านบาท) ในปี 2015
---การศึกษาพร้อม รายได้สูง เลี้ยงสัตว์---
คาดการณ์ว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงของจีนจะมีอัตราการเติบโตรวม 14.2% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และมีมูลค่า 445.6 พันล้านหยวน (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2023
เจ้าของสัตว์เลี้ยงยุคใหม่ในจีน มีหลายสิ่งที่เหมือนกัน คือ พวกเขาอายุน้อย มีการศึกษาที่ดี และมีรายได้สูง เกือบ 90% สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยหรือสูงกว่านั้น
ประมาณ 46.7% มีรายได้ต่อเดือน 4,000-9,999 หยวน (ราว 20,735-51,830 บาท) และ 34.9% มีรายได้มากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน (ราว 51,830 บาท) อีกทั้งมากกว่า 46% เกิดหลังปี 1990
อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ไม่ถึงสามปี ตอกย้ำถึงความชื่นชอบสัตว์ที่เพิ่งค้นพบในหมู่หนุ่มสาวชาวจีน
---สัตว์เลี้ยงเติมเต็มความสุข---
แจ็ค เปียน ผู้ก่อตั้ง Lang Xiao Zhua ในหางโจว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง กล่าวว่า เนื่องจากชาวจีนวัยหนุ่มสาวเลือกที่จะอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น นี่จึงอาจทำให้แผนมีบุตรล้าช้ายิ่งกว่าเดิม
“สมาชิกกว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-39 ปี และ 71.2% เป็นผู้หญิง” เปียน กล่าว โดย 60% ยังไม่ได้แต่งงานหรือโสด ขณะที่ 45.8% แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก
“การค้นพบที่น่าสนใจของเรา คือ ลูกค้าชาวต่างชาติมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่ดี แต่ชาวจีนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ชอบที่จะปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็น ‘ลูกชายหรือลูกสาว’ ” เขา กล่าว “พ่อแม่ผมยังเรียกเจ้าหมา 2 ตัวที่บ้านว่า ‘หลาน’ เลย”
สัตว์เลี้ยงไม่เพียงแต่นำความสุขมาสู่ชีวิตของเจ้าของเท่านั้น แต่ยังไม่มีต้นทุนการเลี้ยงดูที่สูง อย่างเรื่องการศึกษา เปียน กล่าว และคาดว่า ปีนี้สมาชิกของ Lang Xiao Zhua จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า
--- “แมว” ต้องมาก่อน---
รายงานยังระบุว่า ความกดดันในชีวิตประจำวันในจีน ทำให้เกิดเศรษฐกิจแมว หรือ cat economy เนื่องจาก Gen Z ไม่มีเวลาดูแลสุนัข โดยปี 2020 จำนวนแมวเลี้ยงแซงหน้าสุนัขเป็นครั้งแรกในหลาย ๆ เมืองของจีน
ตั้งแต่ปี 2019 ยอดขายอาหารแมวนำเข้าใน Tmall Global ตลาดออนไลน์ข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดของจีน ยังแซงหน้านมผงสำหรับเด็ก และในปีที่แล้ว บริษัทจดทะเบียนบางแห่งในจีน ยังเปิดตัวอาหารสัตว์เลี้ยงไฮเทคที่มีกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งช่วยเรื่องข้อต่อและซ่อมแซมบาดแผลด้วย
“ฉันคิดว่า สัตว์เลี้ยงควรได้รับอาหารดี ๆ พวกของเล่นอัจฉริยะและเครื่องให้อาหารสัตว์ก็น่าสนใจ และฉันเต็มใจที่จะลงทุนให้สัตว์เลี้ยงของตัวเอง” หลัว ปิง ทนายความหญิงโสดวัย 40 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ กล่าว
“ตอนอายุ 30 ปี ฉันกังวลว่าตัวเองจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยไม่ได้แต่งงานและมีลูก”
“แต่ตอนนี้ ฉันไม่ได้มีความปรารถนาเช่นนั้นแล้ว โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นเด็ก Gen Z จำนวนมาก ไม่ค่อยอยากแต่งงานและมีลูกเหมือนกัน” หลัว กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Roman Odintsov / Pexels