วิจัยพบ 'บึงประดิษฐ์' แบบใหม่ ควบคุมการปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก'

ปักกิ่ง, 27 ต.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยจีนค้นพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม หรือระบบบึงประดิษฐ์ (CW) รูปแบบใหม่ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำ แต่ยังควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
คณะนักวิจัยจากสถาบันภูมิศาสตร์และนิเวศเกษตรตะวันออกเฉียงเหนือ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ผสมผสานเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ (MFC) เข้ากับบึงประดิษฐ์ โดยอ้างอิงหลักการไฟฟ้าเคมีและจุลชีววิทยาผลการวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารวอเตอร์ รีเสิร์ช (Water Research) ระบุว่านักวิจัยทำการเปรียบเทียบเชิงปริมาณของประสิทธิภาพการกำจัดสารก่อมลพิษและการปล่อยก๊าซหลายชนิดระหว่างบึงประดิษฐ์แบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ กับบึงประดิษฐ์ดั้งเดิมแบบเติมน้ำเข้า (BF CW)การศึกษาพบว่าบึงประดิษฐ์แบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและปรับปรุงประสิทธิภาพการกรองสิ่งปฏิกูล รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับบึงประดิษฐ์แบบดั้งเดิม โดยบึงประดิษฐ์แบบใหม่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซมีเทน (CH4) ลดลงร้อยละ 34 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ลดลงร้อยละ 28 และก๊าซแอมโมเนีย (NH3) ลดลงร้อยละ 52การแลกเปลี่ยนก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ลดลงในบึงประดิษฐ์แบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์เกิดจากการถอดรหัสยีนนอสแซด (nosZ) ที่ลดลง และอัตราส่วนของยีน nosZ/(nirS + nirK) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการแลกเปลี่ยนก๊าซมีเทนที่ลดลงสัมพันธ์กับยีนปอมเอ (pomA) และยีนเอ็มซีอาร์เอ (mcrA)อนึ่ง ผลการศึกษานี้ตีความกลไกการทำงานและหน้าที่ของบึงประดิษฐ์แบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์จากมุมมองใหม่ และมอบกลยุทธ์ใหม่สำหรับกำจัดสารก่อมลพิษควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายชนิด