รีเซต

ทีทีบี ชี้ น้ำมันแพงเพิ่มค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 2 แสนล้าน แนะรัฐตรึงราคาขายปลีก ลดภาษีน้ำมัน

ทีทีบี ชี้ น้ำมันแพงเพิ่มค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 2 แสนล้าน แนะรัฐตรึงราคาขายปลีก ลดภาษีน้ำมัน
มติชน
29 ตุลาคม 2564 ( 15:09 )
68

รายงานจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ระบุว่า ผลกระทบราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ผ่านโครงสร้างการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย พบว่าในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ระหว่าง 3.4 – 3.6 หมื่นล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซล 68% ที่เหลือเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน 32% โดยภาคธุรกิจมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียง 8% ของการใช้รวมทั้งประเทศ ซึ่งระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2564-2565 จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 2 แสนล้านบาท (คำนวณเทียบบนฐานปริมาณการใช้น้ำมันในปีปกติ) คิดเป็น 1.3% ต่อจีดีพี โดยจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

 

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ผ่านการวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างต้นทุนการใช้น้ำมันต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ ซึ่งเจาะลึกธุรกิจที่ใช้น้ำมันมาก ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ (สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมัน 32%) ประมง (19%) เหมืองแร่ (11%) เคมีภัณฑ์ (9%) และวัสดุก่อสร้าง (4%) อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาส่งผ่านนานและส่วนใหญ่สินค้ามีการควบคุมราคาจากภาครัฐ ทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ออัตรากำไรของธุรกิจจะลดลง

 

ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัวเรือนไทยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% และเมื่อพิจารณาแยกเป็นรายภาคจะพบว่าภาคใต้และภาคกลางเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันสูง โดยสัดส่วนของภาคใต้ และภาคกลาง คิดเป็น 7.5% และ 6.9% ของค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันส่งผลให้ค่าครองชีพภาคใต้และภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ

 

ข้อเสนอแนะคือ ภาครัฐควรพิจารณาตรึงราคาขายปลีกในประเทศ โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคาให้ลดลง และหากมีความจำเป็นในกรณีราคาพุ่งสูงขึ้นมากอาจพิจารณาลดภาษีน้ำมันลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชนลงจนกว่าราคาน้ำมันจะปรับเข้าสู่ระดับราคาสมดุลใหม่อีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง