รีเซต

แนวทางรับมือฤดูฝุ่น ปรับตัวอย่างไรให้อยู่อย่างปลอดภัย

แนวทางรับมือฤดูฝุ่น ปรับตัวอย่างไรให้อยู่อย่างปลอดภัย
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2567 ( 21:46 )
42
แนวทางรับมือฤดูฝุ่น ปรับตัวอย่างไรให้อยู่อย่างปลอดภัย

    จากสภาพอากาศประเทศไทยขณะนี้แม้เป็นช่วงฤดูหนาวแต่ก็เข้าสู่ฤดูฝุ่นเช่นกัน ซึ่งทุกภาคส่วนต่างหามาตรการป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ดูเหมือนจะเกินค่ามาตรฐานเกือบทุกวัน และ1ในคำเตือนเพื่อรับมือฝุ่นPM2.5 นั่นก็คือการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 

  

     ด้าน ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์   รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แนะนำการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยจึงมีความสำคัญ หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญฤดูฝุ่นแบบนี้กันไปอีกนานเป็นวัฎจักร 



    ในช่วงฤดูหนาวเวลาอากาศเย็น หลายคนรู้สึกอยากออกกำลังกาย หรือ คนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ ก็อยากจะไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง  จนมีบางคนอาจจะรู้สึกว่าคุณภาพอากาศไม่น่าจะแตกต่างกัน  และมีการทดสอบวัดค่าฝุ่น โดยเดินไปที่กลางแจ้ง และ ที่อยู่ในอาคาร  ซึ่งพอเข้าตัวอาคาร ฝุ่น ก็ลดลงเรื่อยๆ   และ เมื่อถึงห้องทำงาน ปริมาณฝุ่น ในห้องปิดกระจก เปิดแอร์ ก็ต่ำกว่าข้างนอกมากๆ จากระดับอันตราย ก็เหลือระดับคุณภาพดี เช่นค่าฝุ่นจาก 48 เหลือ  29  เนื่องจากตัวผลิตฝุ่น อยู่ด้านนอก เช่นบนท้องถนน และฝุ่นที่ผลิตก็มีมาก แต่กลับถูกกั้นด้วยฉนวนของอากาศเย็น ที่ความสูงบรรยากาศระดับปานกลาง ทำให้ฝุ่น และ อากาศที่อุ่นกว่าตรงระดับพื้นดิน ไม่สามารถระบายไปสู่บรรยากาศชั้นสูงได้ จึงทำให้ ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นมากในที่โล่งแจ้ง และ บนท้องถนน



  ฉะนั้นช่วงฝุ่นเยอะๆ ควรอยู่แต่ในอาคาร  เพราะออกไปข้างนอกจะอันตรายมากกว่าประโยชน์  ยิ่งถ้า ไปออกกำลังกาย ยิ่งไม่คุ้ม เพราะพิษภัยจากฝุ่น PM 2.5 รุนแรงถึงขั้นทำลายสมอง และระบบประสาท

 

   จากข้อมูล นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าว ว่า PM 2.5 ทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ  เป็นต้น  ฝุ่น PM 2.5  ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ 



     สำหรับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด  โรคถุงลมโป่งพองเกิดอาการกำเริบของโรค  เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนเกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพองในผู้ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้  นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์หากสูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย 



     สัญญานที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 คือ มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที 


                                                                                                 ข้อมูลและภาพ : เพจบันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune , กรมการแพทย์

  เรียบเรียงโดย : นัฐทวี ชลีโสภณ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง