รีเซต

โควิด-19 : เปิดประสบการณ์เกือบ 4 เดือน ของทีมวอร์ดโควิด รพ.จุฬาฯ

โควิด-19 : เปิดประสบการณ์เกือบ 4 เดือน ของทีมวอร์ดโควิด รพ.จุฬาฯ
บีบีซี ไทย
2 พฤษภาคม 2563 ( 14:04 )
337
1
โควิด-19 : เปิดประสบการณ์เกือบ 4 เดือน ของทีมวอร์ดโควิด รพ.จุฬาฯ
Reuters
ทีมแพทย์พยาบาลกำลังเตรียมผู้ป่วยเพื่อเข้าการทำซีทีสแกน

หมอโรคติดเชื้อ หมอโรคปอด หมอเวชบำบัดวิกฤต หมอผ่าตัดหัวใจ หมอดมยา คือ องค์ประกอบทีมแพทย์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักในห้องไอซียูหนึ่งคน และในคนไข้บางรายพวกเขาอาจต้องใช้เวลาดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่า 20 วัน

"คนที่ใส่เครื่องเอคโมได้ ไม่ใช่หมอธรรมดานะ ต้องเป็นหมอผ่าตัดหัวใจด้วย... หมอดมยามาใส่ท่อช่วยหายใจ ทีมปอดเข้าไปเค้าจะไปพลิกหงายๆ คนไข้ พอคนไข้ดีขึ้นมีทีมกายภาพอีก" นพ.โอภาส พุทธเจริญ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าเรื่องการทำงานเกือบ 4 เดือนให้บีบีซีไทยฟัง

"เอคโมเป็นเครื่องที่เอาเลือดออกมาแล้วอัดอากาศเข้าไปให้ทำงานแทนปอดชั่วคราว จนปอดได้พักแล้วถอดเอคโม่ ถือว่าเป็นจุดวิกฤตที่สุดใครที่ออนเอคโม่ถือว่าแย่มากแล้ว"

ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ อาคาร 4 ชั้น ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถูกจัดไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคชนิดใหม่ เปิดระบบการคัดกรองและรักษาโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบันผู้เข้าเข้ามาตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดในวอร์ดแห่งนี้แล้วกว่า 9,300 คน

https://www.facebook.com/watch/?v=176578273523829

แต่ละวันนับตั้งแต่ รพ.รักษาผู้ติดเชื้อคนแรก หมอ 20 ชีวิต และพยาบาลอีกราว ๆ 4 เท่าของหมอ หมุนเวียนเข้าดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยัน 187 ราย ในจำนวนนี้ 11 ราย เป็นคนไข้หนัก

"ถามว่าเราเตรียมการมานานแค่ไหน เราเตรียมเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 60 สำหรับโรคอุบัติใหม่" นพ.โอภาส กล่าว

ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาฯ เริ่มต้นภารกิจมาตั้งแต่ปีนั้นเมื่อเริ่มเห็นการระบาดของโรคติดต่อมากขึ้นและมีหลายปัจจัยที่ส่อเค้าว่าจะมีโรคระบาดโรคใหม่เกิดขึ้นในโลกนี้ ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้เกิดโรคอุบัติใหม่มากมาย เช่น โรคเมอร์ส ซาร์ส จึงมีการตั้งศูนย์นี้ขึ้น และตึกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

Reuters
จนถึงวันที่ 2 พ.ค. คนไข้หนักอยู่ในความดูแลของ รพ.จุฬาฯ จากจำนวน 11 คน อาการดีขึ้นและออกจากไอซียูแล้ว 10 ราย

ทางศูนย์ได้มอนิเตอร์สถานการณ์ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมรับมือว่าอาจมีการระบาดนอกประเทศจีน

"โชคดีคือเมืองไทยเป็นที่ที่มีความเสี่ยงจะรับเชื้อจากอู่ฮั่นเยอะที่สุด ถ้าดูตามไฟลท์บินเรารับไฟลท์จากเมืองอู่ฮั่นเมืองเดียวเยอะมาก เราถูกปรามาสไว้ว่าต้องมาที่เมืองไทยแน่ ๆ"

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ในเดือน ม.ค. ประเทศไทยก็พบผู้ป่วยรายแรก

9 มีนาคม 2563

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเมื่อเดือน ม.ค. ตอนนั้นทางโรงพยาบาลได้เริ่มเปิดระบบการคัดกรองและรักษาทันทีวันที่ 15 ม.ค. พร้อม ๆ กับการคัดกรองในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลจุฬาฯ ระดมหมอและพยาบาลจากวอร์ดรักษาอื่น ปิดวอร์ดบางวอร์ดที่มีคนไข้ และเริ่มฝึกอบรมการดูแลคนไข้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาแก่ทีมบุคลากร เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคติดต่อ การดูแลผู้ป่วยจึงต้องมีการดูแลที่ต่างออกไปจากปกติ

หลังจาก คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ไปกว่าหนึ่งเดือน รพ.จุฬา ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เป็นผู้ป่วยหญิง ติดเชื้อจากการไปสัมผัสชาวต่างชาติ

"ตื่นเต้นนะ เป็นเคสแรกทุกคนตื่นเต้น จริงๆ ทุกคนรู้แล้วว่ามันคืออะไร แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลมากกว่า คือมันจะติดง่ายไหม"

นพ.โอภาสบอกว่า เป็นธรรมดาของโรคระบาดที่คนในโรงพยาบาลอาจมีความกังวลมากน้อยต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญของการเดินหน้าต่อในแต่ละวัน ต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อในกลุ่มคนทำงาน เพราะหากมีบุคลากรหมอ พยาบาล ติดเชื้อเมื่อใดจะทำให้ระบบโรงพยาบาลอ่อนแอทันที

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในไทย จนถึงวันที่ 15 เม.ย. กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 102 คน

คนไข้อาการหนัก

กลุ่มคนไข้ที่รักษาที่ รพ.จุฬาฯ กลุ่มหลัก คือ กลุ่มจากสถานบันเทิง เป็นคนไข้อายุน้อยมีอาการไม่ค่อยรุนแรง นอนโรงพยาบาลแล้วสามารถย้ายไปพักฟื้นที่โรงแรมที่แปลงเป็นโรงพยาบาลสนามได้ (ฮอสปิเทล) แต่อีกกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มคนไข้อาการหนักที่ป่วยด้วยโควิด-19 และมีโรคร่วมด้วย เช่น คนไข้ปลูกถ่ายไต มะเร็งโรคเลือด เบาหวาน หรือกระทั่งอาการปวดท้องจนต้องผ่าตัดไส้ติ่งระหว่างที่ยังรักษาอาการโควิด-19 ภายในโรงพยาบาล

สำหรับกลุ่มใหญ่ที่เป็นกลุ่มอาการรุนแรง คือ กลุ่มจากสนามมวย

Reuters

"กลุ่มนี้เป็นคนอายุเยอะและเป็นผู้ชาย มีโรคประจำตัว บางคนเป็นเบาหวาน แต่ไม่รู้ เพิ่งมารู้ตอนมานอนโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้โรครุนแรง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงเยอะ คนไข้นอนไอซียูส่วนใหญ่ เป็นคนจากสนามมวย"

หมอโอภาสอธิบายต่อว่า โควิด-19 ถ้าอาการรุนแรงตัวโรคจะทำลายปอด ปอดจะเสียไปจากการอักเสบ ถ้าอาการรุนแรงมากต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วเมื่อถึงจุดที่ปอดถูกทำลายมาก ๆ ขึ้นไปอีก ต้องใส่เครื่องทำงานแทนปอดหรือที่เรียกว่า "เอคโม"

เครื่องเอคโม (ECMO) ที่นพ.โอภาส พูดถึง คือ มีชื่อเต็มคือ Extracorporeal Membrane Oxygenation เป็นเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจ และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนทดแทนปอด

"เรามีความหวังทุกคนที่รักษา"

ความรุนแรงของโควิด-19 ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว อาการของคนไข้จะทรุดลงอย่างรวดเร็วในเวลา 1-2 สัปดาห์ จนกระทั่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจและสำหรับคนไข้ที่อาการหนักกว่านั้น เครื่องเอคโมจะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วย

คนไข้ที่มีอาการรุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยทำงานแทนปอดรายหนึ่ง หลังจากมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าคนไข้เริ่มหายใจเหนื่อยขึ้น

"วันที่ 7 เขาหายใจเหนื่อย วันที่ 8 เขาเหนื่อยมากจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ วันที่ 9 เนี่ย ระบบหายใจจะล้มเหลว มันจะแป๊บเดียว" นพ.โอภาสเล่าถึงความรุนแรงของโควิด-19 และเมื่อทำการเอ็กซเรย์ปอดก็พบว่ามีการอักเสบรุนแรงภายใน 3-4 วัน

สำหรับคนไข้รายนี้ได้รับการรักษาจากเครื่องช่วยหายใจแทนปอดเป็นเวลา 21 วัน จนมีอาการดีขึ้น แต่การต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่และความรุนแรงของตัวโรคที่มีผลต่อร่างกายผู้ป่วยอย่างฉับพลันหัวใจของคนเป็นหมอรู้สึกอย่างไรกันกับความเป็นไปตรงหน้า

"เรามีความหวังทุกคนที่รักษา โอเคว่าเราไม่สามารถการันตีว่าเขาจะถึงจุดที่เราอยากให้เขาเป็นหรือเปล่า แต่เราหวังทุกคนนะครับว่า คนไข้ของเราจะต้องดีขึ้น" นายแพทย์เล่า

"ตอนนั้นเราก็ยังไม่แน่ใจ แต่เราคิดว่าเรามีความหวัง เพราะเคสนั้นเราใส่เร็ว ยิ่งใส่เร็วมันจะดี ถ้าใส่ตอนช้า ๆ ตอนอาการมันเป็นเยอะไปแล้วมันอาจจะไม่ทัน"

ทุกวินาทีคือความเสี่ยง

ความยากของคนไข้หนัก ๆ อีกเรื่องหนึ่ง คือ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของหมอพยาบาลที่เข้าไปรักษา

หมอโอภาส อธิบายกลไกที่ทำให้ผู้ดูแลคนไข้มีความเสี่ยงจากการทำงานว่า เมื่อใดก็ตามที่คนไข้มีอาการหนัก หากต้องใส่ท่อช่วยหายใจและมีการเป่าออกซิเจน สารคัดหลั่งพวกนี้จะถูกลมเป่าและเกิดการฟุ้งกระจายขึ้นมาทันที จากปกติที่มันขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน ขนาดจะเล็กลง เมื่อเล็กลงการฟุ้งกระจายก็ยิ่งง่ายขึ้นอีก

Reuters

นี่คือสภาพแวดล้อมที่หมอพยาบาลต้องเจอภายในห้องสี่เหลี่ยมที่มีคนไข้รอการดูแล

"อันนี้เป็นเหตุผลว่าเวลาผ่าตัดหรือใส่ท่อช่วยหายใจเราต้องใส่ชุดเหมือนมนุษย์อวกาศ... ถ้าเคสหนักมาก ต้องมีการนำคนไข้คว่ำหงายเพื่อให้การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดกระจายไปทั่วปอด เวลาคว่ำหงายทีต้องมีคนเข้าไป 5 คน วันนึงเข้าไปหลาย ๆ ชม. เข้า ๆ ออก ๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพีพีอี (ชุดป้องกันส่วนบุคคล) ถึงไม่พอ"

เมื่อคนไข้หนักจำนวนมาก นั่นหมายความว่าชุดพีพีอีก็ยิ่งต้องมีให้เพียงพอกับการใช้งาน สำหรับผู้ป่วยหนักหมอพยาบาลที่นี่ต้องถอดชุดเปลี่ยนใหม่ทุกสองชั่วโมง และการใส่ชุดแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก

Reuters

"บางทีฮีโร่ของเราก็คือคนไข้ของเราเอง"

"วันหนึ่งได้ไปราวนด์ (ออกรอบดูแลผู้ป่วย) ผมถามลูกศิษย์ว่าวันนั้นมีเคสอะไรบ้าง เขาก็เล่าให้ฟังว่าเคสหนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นแบบนี้นะ คนหนึ่งเป็นผู้หญิง เป็นปอดอักเสบเยอะเลย อาการไม่ค่อยดี ใส่ท่อช่วยหายใจ ก็เลยถามว่าคนรอบข้างเป็นยังไงบ้าง ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกศิษย์ผมว่าเป็นผู้หญิงขับแท็กซี่นะ น่าจะติดจากการไปสัมผัสนักท่องเที่ยวเพราะความเสี่ยงเค้าคือไปเจอนักท่องเที่ยวที่อาจจะมีโรคโควิดอยู่"

นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าที่หมอโอภาสโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "บางทีฮีโร่ของเราก็คือคนไข้ของเราเอง"

https://www.facebook.com/opass.putcharoen/posts/3421403954543634

ในการทำงานของหมอ นอกจากดูว่าผู้ป่วยทำอาชีพอะไร ติดเชื้อจากไหนและมีการนำเชื้อไปติดคนในบ้านหรือเปล่า คำถามที่ว่าแล้วตอนนี้ครอบครัวพวกเขาอยู่กันอย่างไร เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ถูกสอนมาว่าชีวิตผู้ป่วยหนึ่งคน ความไม่สบายของผู้คนไม่ได้มีแค่มิติเรื่องโรค ยังมีมติทางสังคม เศรษฐกิจ เพราะนี่คือโรคระบาดที่กระทบผู้คนทุกด้าน

"คิดแว๊บแรกคือ ปกติเราไม่เห็น ผู้หญิงขับแท็กซี่เยอะเท่าผู้ชาย ถ้าเราเห็นผู้หญิงออกมาทำงานแสดงว่าครอบครัวต้องมีอะไรแน่ ๆ เลย ตอนแรกคิดว่าเธอเป็นเสาหลักของครอบครัวคนเดียวหรือเปล่า"

เขาเล่าต่อว่าหลังจากนั้นได้ให้ลูกศิษย์แพทย์ประจำบ้านโทรติดต่อครอบครัวว่า สามีและลูกเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เข้ามาตรวจหาเชื้อเนื่องจากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด และได้รับรู้เรื่องเล่าถึงความยากลำบากของครอบครัวนี้เมื่อเจอสถานการณ์โรคระบาด

"สามีบอกว่าเดิมทำงาน พอมีการระบาดก็ไม่ได้ขับรถแล้ว เพราะธุรกิจมันหยุดไป พอหยุดไป ตอนนี้เช่าบ้านอยู่ คนที่เป็นเจ้าของบ้านไม่ให้อยู่ต่อ เพราะว่าภรรยาเป็นโควิด เลยต้องเอา ลูกสองคนกับเขาย้ายออกมาอยู่กับเถ้าแก่อีกคน แต่เป็นบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ พอฟังอย่างนี้เราตามพ่อลูกมา swab (เก็บตัวอย่างไปตรวจเชื้อ) ถ้าไม่ติด จะได้ออกใบรับรองแพทย์ไปว่าเขาไม่ติดนะ ต้องการแค่นั้นอยากจะให้เค้าอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ถูกตีตรา พอผลตรวจออกมาเป็นลบก็ให้เขากลับบ้านไป แล้วให้ลูกศิษย์โทรไปถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม เขาบอกว่าเขายังโอเคอยู่นะ ไม่เป็นไร ยังอยากทำงานเอง"

หลังจากรักษาตัวในห้องไอซียูด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง หญิงขับแท็กซี่ ผู้เป็นแม่วัย 40 ปีคนนี้ ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลไปเจอลูก ๆ ได้แล้ว

"พอถอดท่อช่วยหายใจปั๊บ คำถามแรกที่เขาถามเลยนะ ลูกหนูติดไหม" หมอถ่ายทอดคำบอกเราจากหมอที่ถอดท่อช่วยหายใจให้กับหญิงนักสู้คนนี้

กำลังใจขอส่งต่อให้คนไข้ให้กลับสู่ชุมชนได้

หมอโอภาสบอกว่า ตั้งแต่ทำงานมาเกือบ 30 ปี โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ในอนาคตเราอาจต้องเตรียมรับมือกับโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้อีก และต้องวางมาตรการป้องกันไม่ให้การเกิดอีกครั้ง "หนักหนา" เท่าคราวนี้ ที่ทั้งสังคมเศรษฐกิจเรียกได้ว่าล่มสลาย

ในมุมการทำงานเขาได้เห็นความร่วมมือของแพทย์พยาบาลในองค์กรเดียวกัน

Reuters

"เราไม่เคยเห็นหมอผ่าตัด หมอตา หมอโรคผิวหนัง มาตรวจโรคติดเชื้อ ก็ต้องมาช่วยเราตรวจ" หมอโอภาสกล่าว "รอบนี้ไม่ใช่แค่หมอเป็นฮีโร่นะ จริง ๆ ตั้งแต่พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องบัตร ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลย คือ คนทำความสะอาด"

กำลังใจถูกส่งมายังทีมแพทย์พยาบาลมากเพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่คนเป็นหมอด้านโรคติดเชื้ออย่างเขาอยากเห็นหลังจากคนไข้ของเขาออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว คือ คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมโดยชุมชนรอบข้างมีความเข้าใจ

"ผมว่าต้องส่งต่อกำลังใจไปให้คนไข้นิดหนึ่งแล้ว เพราะไม่งั้นเราผ่านจุดวิกฤตนี้ไปไม่ได้"

Reuters
พนักงานทำความสะอาดในวอร์โควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มฟันเฟืองเล็ก ๆ ภายในวอร์ดโควิด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง