Gen Z ในจีนฉีกค่านิยมคนรุ่นก่อน ไม่แต่งงานงดมีลูก ขอ ‘มีชีวิตเพื่อตัวเอง’
สำนักข่าว SCMP รายงานเรื่องแนวคิดความสำเร็จในชีวิตของคน Gen Z ในประเทศจีน หลังคนรุ่นใหม่เริ่มคิดว่าการแต่งงานและการมีบุตร ไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ของชีวิตอีกต่อไป
---เกิดมาทั้งทีขอมีชีวิตเพื่อตัวเอง---
ไม่ว่าพ่อแม่และรัฐบาลจะต้องการให้หนุ่มสาวชาวจีนสร้างครอบครัวมากแค่ไหน แต่สำหรับคน Gen Z ในประเทศจีน ความสำเร็จในชีวิตไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการแต่งงาน หรือการมีลูก
เจเน็ต ซ่ง วัย 25 ปี ทำงานในคาเฟ่สัตว์เลี้ยงในมณฑลกวางโจว กล่าวว่า ความสำเร็จในชีวิต คือ “การใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง” มากกว่าการแต่งงานหรือการมีลูก เธอไม่คิดว่าสองสิ่งนี้ จะช่วยให้เธอประสบความสำเร็จได้
“ฉันมีลูกพี่ลูกน้องผู้หญิงสองคน เราทั้งสามคนเป็นลูกคนเดียว แม้ลูกพี่ลูกน้องทั้งสองคนแต่งงานแล้ว แต่ตอนนี้กลับสนับสนุนให้ฉันเป็นโสด พวกเธอบอกว่า ถ้าไม่อยากแต่งก็ไม่ต้องแต่ง แล้วการไม่ลูกก็ไม่ได้จำเป็นอะไร” ซ่ง กล่าว
เธอเสริมว่า “พวกเรารู้สึกว่า ชีวิตคนเมืองยุคใหม่เริ่มสะดวกและเป็นมิตรกับคนโสดมากขึ้น ส่วนการแต่งงานและมีลูก แทบกลายเป็นเพียงความเครียดในชีวิต สำหรับคนหนุ่มสาวอย่างเรา ๆ ”
---การแต่งงาน-มีลูก ดียังไง?---
หญิงสาวชาวจีน โดยเฉพาะ Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1995-2010 ล้วนตามหาความหลากหลายและความเป็นเอกเทศในชีวิต การแต่งงานและการมีลูกจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
หลายคนสบายใจมากขึ้น เมื่อรู้ว่าหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ต่างก็มีทัศนคติแบบเดียวกัน ดังที่เห็นได้จากโพสต์ยอดนิยมบนโลกออนไลน์และเทรนด์การโฆษณา
นอกจากนี้ ประชาชนยังต่อต้านนโยบาย ที่รัฐบาลผลักดันให้คนหนุ่มสาวสร้างครอบครัว รวมถึงการปฏิรูปนโยบายการวางแผนครอบครัว เพื่อให้ประชาชนมีบุตรได้ถึงสามคน
เสิ่น เจียเค่อ นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระ ที่มีผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง กล่าวว่า เพื่อให้นโยบายดังกล่าว มีผลต่อการเพิ่มอัตราการเกิด รัฐบาลต้องทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า การมีลูกช่วยให้มีสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อย่างนั้น นโยบายดังกล่าว จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผู้หญิงแสดงทัศนคติต่อนโยบายการแต่งงานและการมีบุตรของจีน ด้วยการกระทำ เห็นได้จากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง” เสิ่น กล่าว
---“นอนราบ” น้อมรับทุกสิ่ง---
หลิว ซิน ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของเอเจนซี่โฆษณากล่าวว่า ความสนใจในการแต่งงานและการมีลูกของผู้หญิงนั้น “ต่ำกว่าที่เคย” เนื่องจากภาคการโฆษณาและการจัดการแบรนด์ รับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่แข็งแกร่งจากตลาดผู้บริโภค
หลิวกล่าวว่า ‘อยู่เพื่อตัวเอง’ หรือ Live for yourself กลายเป็นแคมเปญโฆษณาที่หลายแบรนด์ใช้เพื่อดึงดูดผู้บริโภคผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี แค่อยากสร้างความพึงพอใจให้ตัวเองในแง่ของการบริโภคและการใช้ชีวิต
“หากเทียบกันแล้ว การแต่งงานและการมีบุตร อาจไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น” เธอ กล่าว “หลายคนเป็นลูกคนเดียว พวกเขาจึงอยากมีชีวิตที่เรียบง่าย อันที่จริง ‘การนอนราบ’ เป็นที่แพร่หลายในหมู่หญิงสาว ไม่เพียงแต่ในแง่ของการทำงาน แต่ยังรวมถึงการแต่งงานและการมีลูกด้วย”
“นอนราบ” หรือ ถ่าง ผิง แสดงถึงแนวคิดของการนอนลงและอยู่เฉย ๆ แทนที่จะเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม, พยายามเรียนอย่างหนัก, เก็บเงินซื้อบ้าน หรือแม้แต่การสร้างครอบครัว
ทั้งนี้ ความตั้งใจที่จะแต่งงานของผู้หญิง Gen Z ในจีนนั้น ต่ำกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด
---เพราะการแต่งงานไม่ใช่ “ใครก็ได้”---
ผลสำรวจของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า จีนมีประชากรถึง 220 ล้านคน แต่คน Gen Z มีอัตราส่วนเพศที่ไม่สมดุลที่สุดในประเทศ โดยมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 18.27 ล้านคน
“หลายสิบปีมานี้ ครอบครัวในเมืองจีนเริ่มร่ำรวยและมีความมั่งคั่ง และเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน ปัจจุบันความมั่งคั่งส่วนใหญ่ จึงตกเป็นของผู้หญิง” เสิ่น กล่าว
“สิ่งนี้นำไปสู่ข้อเท็จจริงและแนวโน้มที่เป็นรูปธรรม ที่ครอบครัวจะยืนข้างสิทธิของลูกสาว ในแง่ของทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีบุตร”
“นอกจากนี้ จำนวนผู้หญิงที่มีการศึกษาและมีอิสระด้านการเงินนั้น แทบจะเทียบเท่าหรือมีมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อทัศนคติและค่านิยมของผู้หญิง ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคม โดยเฉพาะแนวโน้มด้านประชากร” เสิ่น กล่าว
---หรือเป็นนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์?---
ตามรายงานสถิติประจำปี 2021 ของรัฐบาลกลาง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในกลุ่มอายุ 20-34 ปี ราว 52.7% เป็นผู้หญิง
“นั่นเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่นโยบายประชากรและนโยบายความเท่าเทียมทางเพศของจีนต้องเผชิญ” เสิ่น เจียเค่อ กล่าว
พร้อมเสริมว่า “เราพบว่า คนที่กำหนดนโยบายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ ที่ริเริ่ม เพื่อกระตุ้นการแต่งงานและการมีบุตร ไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้หญิง”
หวง เวินเจิ้ง นักประชากรศาสตร์ ระบุว่า ระดับการศึกษาและอาชีพของผู้หญิงในประเทศจีน เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ชาย ส่วนนโยบายต่าง ๆ ก็ตามไม่ทันมุมมองการแต่งงานและการมีลูก ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป
“ในอนาคต ความไม่สมดุลของประชากรจีน อาจรุนแรงยิ่งกว่านี้” หวง กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters