แพทย์ เผยโควิดส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่ต้องกักตัว ลดแพร่ต่อ
โคแพทย์ เผยโควิดไม่มีอาการ แต่ต้องกักตัว ลดแพร่ต่อ ชี้ รพ.ทุกแห่งพร้อมรับ UCEP Plus ขอให้ ประกันสังคม-บัตรทอง ประกาศเกณฑ์รับผู้ป่วยเขียวที่อาการมากขึ้น
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นอาการของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้เราพบว่าผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ราว 50% ไม่มีอาการป่วย ส่วนที่มีอาการ 50% เราจำแนกอาการย่อยได้เป็น ไอและเจ็บคอ 50% อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนๆ กัน ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบก็ให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล(รพ.) เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก(OPD) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ว่า หากเป็น รพ.สังกัดกรมการแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ รองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย จาก 2 ช่องทาง คือ 1.คลินิกโรคไข้หวัด(ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อราว 70% เลือกการรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาจากที่บ้าน(Home Isolation) และ 2.เพื่อแบ่งเบาภาระงานของสายด่วน 1330 รพ.แต่ละแห่งจะออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกการรักษาแบบ OPD ราว 60% และอีก 30-40% เลือกรักษาจากที่บ้าน(HI) อย่างไรก็ตาม เรากำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1-2 พันราย
เมื่อถามถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อเข้าระบบ OPD ที่ไม่ได้รับอาหาร 3 มื้อแต่ได้รับยาตามแพทย์จ่าย ซึ่งจะต่างจากระบบ HI ที่ได้รับอุปกรณ์และอาหาร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่กรมควบคุมโรคได้ให้ข้อมูลว่าอีกระยะหนึ่งเราก็จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของโรคไปเป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) ฉะนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนการดูแลทุกเรื่อง โดยหลักที่เน้นมาตลอดคือ การให้ผู้ติดเชื้อที่อยู่บ้าน(HI) และผู้ป่วย OPD อาการไม่แย่ลง เราจึงติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง ในส่วนของ OPD ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก แต่หากมีอาการมากขึ้น สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที
“ที่สำคัญคือการป้องกันแพร่เชื้อ เดิม HI ที่เราบริการอาหาร 3 มื้อ เพื่อลดการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน แต่ในส่วน OPD เราประเมินความพร้อมของผู้ป่วยด้วย เช่น มีญาติส่งอาหาร หรือผู้ป่วยสั่งอาหารเองได้ เราก็สามารถให้อยู่ในบ้านดูแลตัวเอง เป็นตามสถานการณ์ที่เราต้องปรับเปลี่ยนไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงความพร้อมของ รพ. เพื่อรองรับ UCEP Plus ผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง และกลุ่มสีเขียวที่มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด UCEP Plus ถือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงทุก รพ.รองรับได้อยู่แล้วทั้งรพ.รัฐ และเอกชน แต่สิ่งที่เรากังวลคือ กลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้นๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ประกันสังคม ต้องประกาศเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า หากติดเชื้อแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยสามารถเข้า รพ.ในเครือข่ายได้ทุกแห่งหรือไม่อย่างไร ซึ่งเราต้องรอการประกาศเกณฑ์ตรงนี้
เมื่อถามต่อว่าอาการที่ชัดเจนในการบ่งบอกว่าเป็นกลุ่มป่วยสีเหลือง สีแดงที่เข้า UCEP Plus นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลักการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จะเป็นผู้ประกาศ UCEP Plus ให้มีผลบังคับใช้ โดยจะต้องตกลงกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยว ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ให้ข้อมูลทางวิชาการกับ สบส. และสพฉ. ไปแล้ว เพื่อจัดระบบบริการฉุกเฉินต่อไป