รีเซต

ไปต่อไม่ไหว 'นกแอร์' ลาสนามบินโคราช เที่ยวบินสุดท้าย ผู้โดยสาร 10 คน

ไปต่อไม่ไหว 'นกแอร์' ลาสนามบินโคราช เที่ยวบินสุดท้าย ผู้โดยสาร 10 คน
มติชน
27 กันยายน 2565 ( 13:20 )
85

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศวันสุดท้ายการทดลองบิน เส้นทาง นครราชสีมา-เชียงใหม่ ของสายการบิน “นกแอร์” ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยให้บริการ 2 เที่ยวบินทั้งไปและกลับต่อสัปดาห์ พบผู้โดยสารจำนวน 10 ที่นั่ง ทยอยเดินทางมาผ่านขั้นตอนเช็คอินเที่ยวบิน DD 9331 กำหนดออกเวลา 07.00 น. วันที่ 27 กันยายน ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของเดือนกันยายนนี้ และไม่เปิดสำรองที่นั่งหรือปรากฏตารางเที่ยวบินในเดือนตุลาคมแต่อย่างใด

 

ก่อนหน้านี้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนร่วมประชุมหารือกับนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน “นกแอร์” ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาชี้แจงและคอยตอบข้อซักถาม ซึ่งเป็นประเด็นหารือหลัง “นกแอร์” ได้ทดลองบินเที่ยวปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ใช้เครื่องบินโดยสารแบบ คิว 400 เน็กซ์เจน จำนวนผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง แต่ “นกแอร์” ประสบปัญหาผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บางเที่ยวมีผู้โดยสาร 9 คน ทำให้ขาดทุน จึงจำเป็นต้องหยุดบิน

 

แต่ “นกแอร์” อ้างช่วงเดือนตุลาคม ต้องซ่อมบำรุงเครื่องบินตามอายุการใช้งาน ทำให้เครื่องบินไม่พอเพียง จึงต้องขอหยุดให้บริการชั่วคราว นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา ได้เสนอทางออกร่วมกันแต่ไม่มีข้อยุติ โดยจะเรียกประชุมอีกครั้ง ก่อนที่ ผวจ.นครราชสีมา เกษียณอายุราชการ ผู้บริหาร “นกแอร์” รับข้อเสนอพร้อมพูดคุยทั้ง ผวจ.เก่าและนายสยาม ศิริมงคล ผวจคนใหม่ เพื่อสานต่อให้บรรลุผล

 

นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่ จ.นครราชสีมา เชิญชวนมากกว่าผู้โดยสารที่ไปเอง ข้อเสนออยากให้ “นกแอร์” ที่มีประสบการณ์การตลาดพิจารณาเรื่องราคาตั๋วและการจัดเที่ยวบินโดยหยุดพักที่โคราชก่อนบินไปปลายทาง เช่น เชียงใหม่-กรุงเทพฯ-โคราช, โคราช-กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โคราช-กรุงเทพ-หวดใหญ่ อาจตอบโจทย์การใช้บริการระหว่างเที่ยวบินสู่ภูมิภาคได้ตรงตามเป้าหมาย

รายงานข่าว ท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือสนามบินหนองเต็ง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,625 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 226 ถ.เพชรมาตุคลา ประมาณ 26 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนการใช้สนามบินของกองบิน 1 นครราชสีมา เนื่องจากต้องใช้เพื่อภารกิจความมั่นคง

ที่ผ่านมามีสายการบินต่างๆ เปิดเส้นทางการบินภายในประเทศและมีแนวคิดขยายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การบินไทย, แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย, แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์, ไทยรีเจียนอลแอร์ไลน์, กานต์แอร์ และนิวเจน แอร์เวย์ส แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องหยุดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์นานร่วม 4 ปี จนกระทั่งวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย “นกแอร์” ได้ทดลองเปิดเที่ยวบิน นครราชสีมา-เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และ “นกแอร์” เป็นสายการบินที่ 10 ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง