รีเซต

แกะรอยโควิดไทย ระบาดครั้งที่ 3 แล้ว

แกะรอยโควิดไทย ระบาดครั้งที่ 3 แล้ว
มติชน
18 เมษายน 2564 ( 15:57 )
175

มาตรการ 9 ข้อของที่ประชุมศบค.เมื่อวันที่ 16 เมษายน  แม้จะไม่มี “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิว” แต่โดยภาพรวมยังคงน่าสนใจ

 

น่าสนใจเพราะมีการเข้มงวดขึ้น นั่นคือ การยกระดับการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการปรับโซนสีพื้นที่ทั่วประเทศให้สอดรับกับการควบคุมการแพร่ระบาด

 

ใช้เวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2564

 

สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564

มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ อาบอบนวด ทุกจังหวัด ขณะที่ร้านอาหาร นั่งรับประทานในร้านได้ งดจำหน่าย และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดพื้นที่โซนสีแดง 18 จังหวัด เปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. และจังหวัดพื้นที่โซนสีส้ม 59 จังหวัด ที่เหลือเปิดไม่เกิน 23.00 น., งดการเรียนการสอนในห้องเรียน และปิดสวนสนุก และงดเล่นเครื่องเล่นในห้างสรรพสินค้า

 

นับได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบ 3 มีการติดเชื้อลามอย่างรวดเร็วกว่า ระบาด 2 ครั้งแรก พบว่า ต้นตอมาจากแหล่งคลัสเตอร์ใหญ่ย่านสถานบันเทิงย่านทองหล่อ (ร้านคริสตัล คลับ และร้านเอมเมอรัลด์) โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกมาเที่ยวที่ร้านคริสตัล คลับ ทองหล่อ กับเพื่อนอีก 5 คน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 และมีพนักงานของทางร้านติดเชื้อจำนวนหนึ่ง

 

ต่อมาวันที่ 2 เมษายน พบผู้ติดเชื้อเป็นพนักงาน และเป็นผู้ใช้บริการร้านเอมเมอรัลด์ ได้เข้าใช้บริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ก่อนที่วันที่ 5 เมษายน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องออกประกาศปิดสถานบริการ รวมทั้งสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ในเขตวัฒนา คลองเตย บางแค ตั้งแต่วันที่ 6-19 เมษายน 2564 ถัดมา วันที่ 9 เมษายน กทม.ได้ออกประกาศ ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

คลัสเตอร์ทองหล่อเหมือนไฟลามทุ่ง เชื้อโควิดแพร่กระจายไปอีกหลายผับ นักท่องเที่ยว นักดนตรี และอาชีพอื่นๆ จากทั่วสารทิศที่เดินทางอยู่ในผับบาร์ย่านทองหล่อหลายรายนำเชื้อไปติดคนใกล้ชิดทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่มีข่าวแว่วมาว่ามีนักการเมืองอยู่ด้วย รวมทั้งข่าวจริงที่ข้าราชการกรมกองต่างๆ ก็ติดเชื้อโควิด จนถึงนักธุรกิจและวงการดาราก็หนีไม่พ้น นำเชื้อไปสู่ครอบครัว

 

ภาคธุรกิจทุกระดับที่หวังจะลืมตาอ้าปากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีอันเป็นฝันร้าย ความหวังที่จะกู้เศรษฐกิจที่ย่อยยับไปปีกว่าๆ ต้องยับเยินอีกครั้ง

 

เมื่อนับการระบาดรอบ 3 ตั้งแต่วันที่ 1-17 เมษายน 2564 หรือรวม 17 วัน มีผู้ติดเชื้อโควิดรวมทั้งสิ้น 11,722 ราย และมีผู้เสียชีวิตระหว่างนั้นรวม 5 ราย

 

ที่น่าห่วงพบว่า การที่ประชาชนจะไปคัดกรองขอตรวจเชื้อโควิด สถานพยาบาลหลายแห่งเริ่มจำกัดคิวการตรวจในแต่ละวัน เท่ากับจำนวนผู้มาตรวจลดน้อยลงตาม ตัวเลขการติดเชื้อก็จะพบน้อยตามไปด้วยเช่นกัน

 

 

หากย้อนกลับไป การระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกในประเทศไทยถูกบันทึกไว้เป็นทางการในวันที่ 13 มกราคม 2563 หรือประมาณ 16 เดือนก่อน กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีน ที่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่ 1 มีนาคม 2563 โรคไวรัสโควิด-19 ถูกระบุให้เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

 

ระบาดครั้งแรกในประเทศไทยกินระยะเวลาจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กินเวลาประมาณ 11 เดือนครึ่ง มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,237 คน เสียชีวิต 60 คน และผลจากการใช้มาตรการ

 

ที่เข้มข้น เพื่อต้องการควบคุมโรคติดเชื้อนี้ให้อยู่ในวงจำกัดและจบให้เร็วที่สุด มีการสั่งล็อกดาวน์ทุกจังหวัด ปิดสถานที่ต่างๆ งดจัดกิจกรรมทุกชนิด ตั้งด่านคัดกรองแรงงานต่างด้าว ปิดสถานประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานบริการ พร้อมกับจำกัดเวลาการเดินทางหรือติดเคอร์ฟิว เป็นต้น

 

แม้จะประสบความสำเร็จ จำนวนคนติดเชื้อที่ต่อมาเป็นศูนย์ แต่ภาคเศรษฐกิจทั้งระดับบนจนถึงระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อุตสาหกรรมหลักๆ แทบจะปิดตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สายการบิน รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีที่ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก เป็นหนี้สินรุงรัง

 

รัฐบาลจึงหามาตรการอัดเม็ดเงินฉีดเข้าไปเติมเงินในมือประชาชน การจัดชุดมาตรการดูแลและเยียวยา ทั้ง “คนละครึ่ง” “เราชนะ” ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการมีทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้ ขยายเวลาชำระภาษีพิเศษ

 

เมื่อรัฐสามารถปิดจ๊อบลดการระบาดรอบแรกไปแล้ว ประเทศไทยก็เกิด “การ์ดตก” ขึ้นมา ประกอบกับการหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ตามชายแดนปล่อยให้มีการทะลักของแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย กลายเป็นที่มาของการระบาดในรอบสอง

 

เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 จ.สมุทรสาครพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในแพกุ้ง เป็นหญิงไทยวัย 67 ปี ค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง ใน ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตรวจพบติดเชื้อโควิด ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ

 

กรมควบคุมโรคเริ่มค้นหาต้นตอของเชื้อ จนรู้ว่าติดเชื้อจากแรงงานชาวเมียนมาในตลาดกลางกุ้ง มีการตรวจเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และ 90% เป็นแรงงานเมียนมา ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่นได้ง่าย อีกทั้งแรงงานเมียนมาพักอยู่รวมกันอย่างแออัด กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ส่วนมากทำงานในอุตสาหกรรมประมง และยังพบผู้ติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่หลัก คือ กรุงเทพฯ นครปฐม และสมุทรปราการ

 

ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าจากหลายจังหวัดและบริเวณโดยรอบต่างเดินทางมาซื้อสัตว์ทะเล

 

ในย่านดังกล่าว ทำให้เชื้อโควิดติดไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยไม่รู้ตัว แม้แต่ “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร วัย 59 ปี ได้รับเชื้อโควิดเข้าไปเต็มๆ ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2563 นอนแบบไม่รู้สึกตัวอยู่นานถึง 42 วัน จาก 82 วัน จนอาการดีขึ้น

 

การระบาดรอบสองมาจบลงในวันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือรวมประมาณ 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น 24,626 ราย และเสียชีวิต 34 ราย รัฐบาลไม่ใช้ “ยาแรง” หยุดทุกอย่างเหมือนระบาดรอบแรก ไม่มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว แย่ยังเข้มงวดเรื่องการดูแลกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมาก ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ไร้งานเคาต์ดาวน์ทั้งหมด

 

กระทั่งเข้าสู่วันที่ 1 เมษายน 2564 การระบาดรอบ 3 จึงเริ่มขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงล่าสุด

 

วันนี้สถานการณ์การติดต่อของเชื้อโควิดไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน แต่ละครั้งที่เกิดการระบาด ก็ล้วนเกิดจากการเปิด “จุดอ่อน” ให้กับโควิดวิ่งเข้าหาทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง