ประมงนราฯ อวดปลาทูน่าบิ๊กไซซ์ ชี้ชัดทะเลอ่าวไทยอุดมสมบูรณ์
ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลฝั่งอ่าวไทย ทำให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.นราธิวาส จับปลาทูน่าขนาดใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก หลังจากชุมชนกลับมาฟื้นฟูทะเลร่วมกัน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าท้องทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนล่างนั้นมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ชาวประมงจึงขอวิงวอนให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทำให้เสียสมดุล ซึ่งจะทำให้ใต้ทะเลเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่สวยงามอยู่ตลอดไป
สำหรับ “ปลาทูน่า” ถือเป็นปลาทะเลที่มีหลายชนิด ผู้คนนิยมนำมารับประทานสด ทำอาหารกระป๋อง และนำมาประกอบอาหาร และปลาทูน่าที่จับได้ในประเทศไทยที่ผ่านมาจะเป็นปลาทูน่าขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาโอแถบ และปลาโอดำ ส่วนปลาทูน่าขนาดใหญ่ต้องออกไปจับนอกน่านน้ำทะเลสากล หรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาทูน่าครีบยาวที่นิยมนำมาทำเป็นทูน่ากระป๋อง มีวิธีการจับ 2 แบบ คือ การจับโดยอวน และการใช้เบ็ดราว
นางสิริมา สะนิ เลขาและคณะกรรมการองค์กรกลุ่มประมงช่วยประมงพื้นบ้านพึ่งตนเอง กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ตั้งแต่มีการทิ้งซั้งไม้ไผ่ ปลาตัวเล็กจะเริ่มเข้ามา ทางจังหวัดมีการปล่อยพันธ์ุสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา ทางประมงชายฝั่งก็จะมีทรัพยากรมากขึ้นแต่ถ้าออกข้างนอกหน่อยเป็นทรัพยากรน้ำลึก ประมงพื้นบ้าน จ.นราธิวาส จะเป็นเรือขนาดเล็กๆ ส่วนชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติมากขึ้นในด้านทางทะเล จากการรวมตัวกันด้วยการเพิ่มซั้งไม้ไผ่ทิ้งลงในทะเลเป็นที่อาศัยของปลาน้ำตื้น แต่ถ้าน้ำลึกไม่สามารถจำกัดตรงนั้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลมีส่วนเข้ามาช่วยชาวประมงพื้นบ้านนราธิวาส ให้มีแหล่งพักอาศัยของสัตว์น้ำมากขึ้นและปัจจุบันนี้มีปลาตัวใหญ่ๆ จำนวนมาก เช่น ฉลามวาฬ โลมา ในน่านน้ำนราธิวาส ทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น หากเมื่อไหร่เห็นวาฬ บอกได้เลยว่าบ้านเรายังอุดมสมบูรณ์
“หลังจากนี้ได้ตั้งองค์กรหลายๆ องค์กร และชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่ให้มีการล้อมอวน ล้อมเฉพาะที่วางซั้งไว้ จะให้ปลาได้มาวางไข่และช่วงฤดูวางไข่ให้หยุดทำการประมง แต่ว่าเราสามารถหาปลาทางอื่นๆ ได้ และปลาขนาดใหญ่มีเยอะแต่ส่วนมากแล้วเป็นช่วงฤดูเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และปลาทูน่าส่วนมากจะอยู่ในช่องหิน จ.นราธิวาส สามารถหาปลาได้ทั้งปี จะได้มากได้น้อยอยู่ที่สภาพอากาศ”
นายสุไลมาจ แวดาโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นตอนนี้ชุมชนชายฝั่งตอนล่าง จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส อยากให้ทุกชุมชนตระหนักที่ทำประมงที่ยั่งยืน เช่น ประมงเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร กิจกรรมธนาคารสัตว์น้ำที่ทุกชุมชนสามารถทำได้ คือธนาคารปู ธนาคารหมึก อีกสิ่งที่เราตระหนักคือ เขตในการปล่อยสัตว์น้ำ จะมีเขตอนุรักษ์ทรัพยากรหน้าบ้าน เขตห้ามทำประมงในทะเลบริเวณลงทะเลประมาณ 500 เมตร ชายฝั่งยาว 1 กิโลเมตร ข้างในทำเป็นซั้งบ้านให้ลูกปูเติบโตบริเวณนั้นได้ พอลูกปูโตก็จะออกนอกทะเลที่เราสามารถจับได้
แล้วอีกด้านหนึ่งในการส่งเสริมความยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดให้ลูกหลานได้เข้าใจว่า “ทำประมงแบบไหนถูกกฎหมายและประมงแบบไหนที่ผิดกฎหมาย” คิดถึงลูกหลานเราในอนาคตที่จะทำอาชีพประมงให้ได้ฟื้นฟูทรัพยากรร่วมกับเรา โดยชุมชนมีส่วนร่วมผ่านการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐก็ดี หน่วยงานท้องถิ่นก็ดี และเป็นปรากฏการณ์ที่ดี แต่ก่อนบ้านเราไม่เคยเห็นปลาตัวใหญ่ขนาดนี้ หายจากทะเลบ้านเรา หลังจากชุมชนแต่ละชุมชนกลับมาฟื้นฟูท้องทะเลร่วมกัน มาทำงานหลายๆ หน่วยงาน ในการไม่ทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่จับสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อนทำให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ตราบใดที่แนวชายฝั่งมีสัตว์น้ำวัยอ่อนเยอะ สัตว์น้ำตัวใหญ่ๆ จะเข้ามาทำให้ชาวประมงได้จับสัตว์น้ำตัวใหญ่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาทูน่าและปลาโอ
“นี่คือปรากฏการณ์เมื่อ 2-3 ปีก่อน จะมีจับปลาทูน่าใหญ่สุดประมาณตัวละ 30 กิโล เรามีเครือข่ายทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ฟื้นฟูท้องทะเล”
อยากให้ทุกชุมชนชายฝั่งหรือชาวประมง หรือนักศึกษาเยาวชนพยายามให้ความสำคัญกับการประมงเชิงอนุรักษ์ เราต้องดูแลไม่ว่าจะเป็นขยะชายฝั่งเมืองและขยะชายฝั่ง สักวันถูกลมพัดเข้าสู่ทะเลทำให้ทรัพยากรที่อยู่ในทะเลกินขยะพลาสติก เมื่อทรัพยากรกินพลาสติกเราไปจับปลาไม่รู้ว่ามีพลาสติกอยู่ในตัว เราก็บริโภค เมื่อบริโภคพลาสติกไปด้วยมันจะสะสมในร่างกายเรา อยากให้ตระหนักเชิงระบบนิเวศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำสู่ทะเล