รีเซต

มือเท้าปากระบาด! เปิดเทอม 4 จังหวัดอีสานใต้ พบป่วยแล้ว 1,552 ราย

มือเท้าปากระบาด! เปิดเทอม 4 จังหวัดอีสานใต้ พบป่วยแล้ว 1,552 ราย
TNN ช่อง16
26 มิถุนายน 2567 ( 11:55 )
29

(26 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคมือเท้าปากในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 24 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 1,552 รายแล้ว แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต


 เมื่อยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสมมากสุด  812 ราย  รองลงมาคือ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม  332 ราย , จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม  309 ราย และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 99 ราย  โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 3 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 1 ปี และกลุ่มอายุ 2 ปี ตามลำดับ


โรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเปิดเทอม เด็กจะมีกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน สภาพอากาศจะชื้นแฉะ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปาก ได้ง่าย จึงมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก จะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดต่อกัน โดยการสัมผัสของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน  


อาการของโรคมือ เท้า ปาก เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และก้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


ดังนั้น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้ปกครอง จึงต้องเร่งดำเนินมาตรการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก โดยขอให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก ซึ่งอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และให้พักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมทั้ง ให้หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่ป่วยไปในที่ชุมชน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชน 


นอกจากนี้  ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น ส่วนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ควรจัดให้มีอ่างล้างมือ ทำความสะอาดของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม หากพบเด็กป่วย ขอให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน รวมถึงค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม โดยหากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422




ภาพจาก Getty Images/กรมควบคุมโรค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง