รีเซต

เหมือง ‘ทังสเตน’ ความหวังใหม่ของเกาหลีใต้? สู่การลดการพึ่งพาแร่จีน

เหมือง ‘ทังสเตน’ ความหวังใหม่ของเกาหลีใต้? สู่การลดการพึ่งพาแร่จีน
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2565 ( 20:30 )
139

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทังสเตนอาจกลายเป็นความหวังใหม่ของเกาหลีใต้ โดยสั่งเดินหน้าเหมืองแร่ซังดงหลังปิดมานานกว่า 30 ปี หวังลดการพึ่งพาตลาดแร่ของจีน


---ตามล่าหาทังสเตน---


ทังสเตนสีฟ้าส่องแสงระยิบระยับจากผนังเหมืองร้าง ในเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง อาจเป็นตัวเร่งเกาหลีใต้ ที่พยายามลดการพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญจากจีน เป็นการเดิมพันในวัตถุดิบแห่งอนาคต 


เหมืองในซังดง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 180 กิโลเมตร กำลังถูกชุบชีวิตใหม่ เพื่อสกัดโลหะหายากที่กลายเป็นโลหะมีราคาในยุคดิจิทัล ซึ่งใช้ในเทคโนโลยีต่าง  ตั้งแต่โทรศัพท์และชิป ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้าและขีปนาวุธ


ทำไมต้องเปิดเหมืองอีกครั้ง หลังจากปิดไป 30 ปีเพราะมันคืออำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติ” ลี ดง-ซอบ รองประธาน Almonty Korea Tungsten Corp. บริษัทเจ้าของเหมือง กล่าว


ทรัพยากรกลายเป็นอาวุธและทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์” ลี กล่าว


---ตลาดแร่ที่จีนครอง---


ซังดง เป็นเหมืองแร่หรือโรงงานแปรรูป 1 ในไม่ต่ำกว่า 30 แห่งทั่วโลก ที่จัดตั้งหรือเปิดตัวนอกประเทศจีนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลที่ Reuters รวบรวมจากโครงการที่รัฐบาลและบริษัทต่าง  ประกาศออกมา ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาลิเธียมในออสเตรเลีย แร่หายากในสหรัฐฯ และทังสเตนในสหราชอาณาจักรด้วย


ขนาดของแผนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่ประเทศต่าง  ทั่วโลกรู้สึกในการจัดหาแร่ธาตุสำคัญ ซึ่งถือได้ว่าจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ลิเธียมในแบตเตอรี EV ไปจนถึงแมกนีเซียมในแล็ปท็อป และนีโอไดเมียมที่พบในกังหันลม


สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ความต้องการโดยรวมของแร่หายากจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า ภายในปี 2040 สำหรับผู้ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนแบตเตอรี คาดว่า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า


หลายประเทศมองว่า การขับเคลื่อนแร่ธาตุเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ เนื่องจากจีนควบคุมการทำเหมือง การแปรรูป หรือการกลั่นทรัพยากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก


---ลดการพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่---


ผลการศึกษาโดยการสำรวจทางธรณีวิทยาของจีนเมื่อปี 2019 พบว่า มหาอำนาจแห่งเอเชียเป็นผู้จัดหาแร่ธาตุสำคัญรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐฯ และยุโรป 


จูเลียน เคทเทิล รองประธานอาวุโสฝ่ายโลหะและเหมืองแร่ของบริษัท Wood MacKenzie กล่าวว่า หากแร่ธาตุสำคัญเปรียบเป็นร้านอาหาร จีนกำลังนั่งทานของหวาน ส่วนประเทศที่เหลือนั่งอ่านเมนูอยู่บนแท็กซี่ 


เงินเดิมพันสูงเป็นพิเศษสำหรับเกาหลีใต้ ที่ตั้งของผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Samsung Electronics เนื่องจากประเทศนี้เป็นผู้บริโภคทังสเตนต่อหัวรายใหญ่ที่สุดของโลก และพึ่งพาจีนในการนำเข้าโลหะถึง 95% โลหะซึ่งได้รับการยกย่องในด้านความแข็งแกร่งที่ไม่มีใครเทียบได้และทนต่อความร้อน


CRU Group นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ในลอนดอน ระบุว่า จีนควบคุมอุปทานทังสเตนทั่วโลกมากกว่า 80% 


เจ้าของเหมืองกล่าวว่า เหมืองซังดง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่พลุกพล่าน แต่ปัจจุบันมีประชากรเพียง 1,000 คน ถือเป็นแหล่งแร่ทังสเตนที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตได้ถึง 10% ของอุปทานทั่วโลก เมื่อเปิดใช้ในปีหน้า


ลูอิส แบล็ก ซีอีโอของ Almonty Industries บริษัทแม่ในแคนาดาของ Almonty Korea บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า บริษัทมีแผนที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ไปยังตลาดในเกาหลีใต้ เพื่อทดแทนอุปทานของจีน


การซื้อจากจีนเป็นเรื่องง่าย และจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ แต่พวกเขารู้ว่ากำลังพึ่งพาจีนมากเกินไป” แบล็ก กล่าว “และตอนนี้ คุณต้องมีแผน B”


---อดีตแหล่งรายได้ที่เคยรุ่งเรือง---


ทังสเตนในซังดง ค้นพบเมื่อปี 1916 ในช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ครั้งหนึ่งเคยเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ โดยคิดเป็น 70% ของรายได้จากการส่งออกของประเทศในปี 1960 ส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือตัดเฉือนโลหะ เหมืองปิดตัวลงในปี 1994 เนื่องจากมีอุปทานแร่จากจีนที่ถูกกว่า ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ 


แต่ตอนนี้ Almonty กำลังเดิมพันความต้องการนั้น และราคาจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการปฏิวัติดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่าง  เพื่อกระจายแหล่งอุปทานของตน


หน่วยงานกำหนดราคา Asian Metal ระบุว่า ในยุโรป วัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์ทังสเตน ราคาซื้อขายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 25% และใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบห้าปี 


เราควรดำเนินการเหมืองประเภทนี้ต่อไป เพื่อให้เทคโนโลยีใหม่  สามารถส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้” คัง ดง-ฮุน ผู้จัดการในซังดง กล่าว 


เราหลงทางในอุตสาหกรรมเหมืองแร่มา 30 ปีแล้ว หากเสียโอกาสนี้ไป ก็จะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกแล้ว


---ผู้นำคนใหม่แห่งเกาหลีใต้---


เกาหลีใต้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หลังเกิดวิกฤตอุปทานเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากจีนเข้มงวดในการส่งออกสารละลายยูเรีย ซึ่งรถยนต์ดีเซลของเกาหลีใต้จำนวนมาก ต้องใช้เพื่อลดการปล่อยมลพิษ โดยในขณะนั้น ยูเรียของเกาหลีใต้เกือบ 97% มาจากจีน การขาดแคลนจึงทำให้ประชาชนทั่วเกาหลีใต้ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก


ยูน ซ็อกยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ให้คำมั่นในเดือนมกราคมว่า จะลดการพึ่งพาแร่ใน “บางประเทศ” และเมื่อเดือนที่แล้ว ได้ประกาศกลยุทธ์ด้านทรัพยากรใหม่ที่จะอนุญาตให้รัฐบาลแบ่งปันข้อมูลสต็อกกับภาคเอกชน


เกาหลีใต้ไม่ได้ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ต่างเปิดตัวโครงการหรือปรับกลยุทธ์การจัดหาแร่สำคัญระดับประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาจีน ห่วงโซ่อุปทานแร่จึงกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของภารกิจทางการทูตไปโดยปริยาย


โดยปีที่แล้ว แคนาดาและสหภาพยุโรปได้เปิดตัวหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ด้านวัตถุดิบเพื่อลดการพึ่งพาจีน ขณะที่เกาหลีใต้เพิ่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับออสเตรเลียและอินโดนีเซีย


ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลแต่ละประเทศจะให้ความสำคัญกับการทูตห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากการเข้าถึงวัตถุดิบที่สำคัญ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ” เฮนนิ่ง กลอยสไตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรพลังงานและสภาพอากาศ ที่ปรึกษากลุ่มยูเรเซียกล่าว


---เหมืองทังสเตนช่วยเกาหลีใต้ได้จริงหรือ?---


เคทเทิลกล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเพิ่มเหมืองแร่และโรงกลั่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตอบสนองความต้องการอุปทานแร่ธาตุสำคัญภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มเป็น 10 เท่าจากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน


โครงการเหล่านี้ ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชุมชน ที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองหรือโรงถลุงแร่ใกล้บ้านเรือนของตน โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกดดันให้เซอร์เบียเพิกถอนใบอนุญาตสำรวจลิเธียมของ Rio Tinto ขณะที่ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ยกเลิกสัญญาเช่าเหมืองทองแดงและนิกเกิลของ Antofagasta ในมินนิโซตา ถึง 2 ฉบับ 


ส่วนในซังดง ประชาชนบางคนสงสัยว่า เหมืองจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นจริงหรือ


หลายคนในเมืองนี้ไม่เชื่อว่าเหมืองจะกลับมาจริง ” คิม กวัง-กิล วัย 75 ปี กล่าว เขาประทังชีวิตอยู่ได้ด้วยทังสเตนมาหลายสิบปี โดยร่อนมาจากลำธารที่ไหลลงมาจากเหมือง ในช่วงที่ยังเปิดใช้งาน 


เหมืองไม่ต้องการคนงานมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะทุกอย่างทำด้วยเครื่องจักร” คิม กล่าว

————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Reuters


ข่าวที่เกี่ยวข้อง