รีเซต

หวั่นภัยจากกลุ่มอัลเคดาหวนทำร้ายอัฟกานิสถาน หลังสหรัฐฯ ถอนทหารหมดในชั่วข้ามคืน

หวั่นภัยจากกลุ่มอัลเคดาหวนทำร้ายอัฟกานิสถาน หลังสหรัฐฯ ถอนทหารหมดในชั่วข้ามคืน
ข่าวสด
7 กรกฎาคม 2564 ( 16:50 )
44

 

บรรดาผู้นำหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตกกำลังเคร่งเครียดและเป็นกังวลกันอย่างมากว่า ภัยจากกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา (al-Qaeda) หรืออัลกออิดะห์ อาจจะหวนคืนสู่อัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังกองกำลังสหรัฐฯ เคลื่อนย้ายออกจากฐานทัพอากาศบากรัมไปเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 2 ก.ค. และกองทหารของพันธมิตรชาติตะวันตกทั้งหมดจะต้องถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 ก.ย. นี้

 

 

การถอนตัวอย่างรีบร้อนเร่งด่วนดังกล่าว เป็นผลจากคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่ได้ทำไว้กับกลุ่มตาลีบัน โดยผู้นำของตาลีบันได้ให้คำมั่นเป็นการตอบแทนสหรัฐฯว่า จะไม่ปล่อยให้กลุ่มที่มีอุดมการณ์สุดโต่งอื่น ๆ เช่นอัลเคดาหรือกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลับมาเคลื่อนไหวสร้างอิทธิพลในเขตปกครองของตาลีบันได้อีก

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองกำลังของตาลีบันสามารถบุกยึดครองพื้นที่เขตต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งบุกโจมตีฐานทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานหลายแห่ง จนทำให้กองกำลังทางการต้องยอมจำนนหรือแตกพ่ายขวัญกระเจิงไปตามกัน

 

R

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างไม่มั่นใจว่า ตาลีบันจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสหรัฐฯ ได้แน่หรือไม่ เพราะโอกาสที่กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติจะกลับฟื้นคืนชีพมาในอัฟกานิสถาน มีความเป็นไปได้สูงมาก

 

 

ดร. ไซจัน โกเฮล นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและการก่อการร้าย บอกกับบีบีซีว่า "การถอนกำลังทหารตามคำสั่งของประธานาธิบดีไบเดนในครั้งนี้ ทำให้การเข้ายึดครองพื้นที่ของตาลีบันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้อัลเคดาสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมาใหม่ จนถึงขั้นที่อาจจะวางแผนโจมตีก่อการร้ายไปทั่วโลกอีกรอบหนึ่งได้"

 

 

กลุ่มก่อการร้ายสยายปีกอีกครั้ง

สิ่งที่แน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นหลังการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯและพันธมิตรนาโต้ มีอยู่สองประการด้วยกัน

ประการแรกคือการหวนคืนสู่อำนาจของกลุ่มตาลีบันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หลังจากที่เคยปกครองอัฟกานิสถานด้วยกฎเหล็กทางศาสนาที่เข้มงวด ระหว่างปี 1996-2001 มาแล้ว

แม้ในตอนนี้ตาลีบันจะประกาศว่า ยังไม่มีแผนจะใช้กำลังบุกเข้ายึดครองกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่กองกำลังตาลีบันได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลหลักไปเสียแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะยอมละทิ้งอุดมการณ์ก่อตั้งรัฐที่ปกครองด้วยเอมีร์หรือเอมิเรต (Emirate) ตามจารีตอิสลาม ซึ่งจุดยืนดังกล่าวของตาลีบันจะเป็นอุปสรรคต่อแผนจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลอัฟกานิสถาน

 

 

ประการที่สอง กลุ่มก่อการร้ายอัลเคดาและคู่แข่งอย่างกลุ่มไอเอสในจังหวัดคูราซาน (IS-KP) ต่างกำลังจ้องจะใช้โอกาสที่ชาติตะวันตกถอนทหาร สยายปีกขยายปฏิบัติการของกลุ่มตนเองให้แผ่เป็นวงกว้างขึ้น

 

 

การที่ภูมิประเทศของอัฟกานิสถานส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและพื้นที่ทุรกันดารเข้าถึงได้ยาก ทำให้มีที่หลบซ่อนในชนบทห่างไกลหลายแห่งสำหรับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ แม้ที่ผ่านมาหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลอัฟกานิสถาน (NDS) ร่วมกับทางการสหรัฐฯ และกองกำลังพิเศษอื่น ๆ จะสามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตของภัยคุกคามนี้ไว้ได้เป็นบางส่วนก็ตาม

 

 

G

เหตุโจมตีและเหตุระเบิดในอัฟกานิสถานยังคงเกิดขึ้นประปราย แต่น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ข้อมูลเบาะแสจากแหล่งข่าวพลเรือนและสายสืบ รวมทั้งการดักฟังโทรศัพท์มือถือ ทำให้กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานและชาติตะวันตกออกปฏิบัติการตอบโต้และสกัดเหตุร้ายได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขที่ชาติตะวันตกต้องถอนทหารออกไปจนหมดสิ้น สภาพการณ์ได้เปรียบที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว

 

 

 

ภัยคุกคามสหราชอาณาจักรร้ายแรงขึ้น

โฆษกของตาลีบันได้บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า หากยังมีกองกำลังต่างชาติหลงเหลืออยู่ในอัฟกานิสถานหลังเส้นตายวันที่ 11 ก.ย. กองกำลังนั้นเสี่ยงที่จะถูกโจมตีด้วยเหตุละเมิดข้อตกลงสันติภาพได้ แต่ทั้งนี้การตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับผู้นำของตาลีบันเป็นสำคัญ

 

 

คำขู่นี้ทำให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีกองทหารขนาดเล็กเฝ้ารักษาความปลอดภัยแก่สถานทูตในกรุงคาบูล หรือที่ยังคงมีกองกำลังย่อยเข้าร่วมปฏิบัติการพิเศษต่าง ๆ ในอัฟกานิสถานอยู่ต้องคิดหนัก เช่นสหราชอาณาจักรซึ่งเผชิญภัยก่อการร้ายข้ามชาติมาหลายครั้งนั้น ลังเลว่าจะถอนทหารทั้งหมดตามสหรัฐฯไปดีหรือไม่ เพราะการถอนทหารอาจทำให้ภัยก่อการร้ายที่มุ่งเป้าโจมตีสหราชอาณาจักรกลับคืนมาอีกได้

 

 

แต่การคงกำลังทหารไม่กี่สิบนายไว้อารักขาสถานทูต รวมทั้งทิ้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษจำนวนหนึ่งไว้ให้ไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานต่อไป อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะต้องเผชิญความขัดแย้งกับกลุ่มตาลีบันอย่างแน่นอน ทั้งกองกำลังเหล่านี้จะต้องเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เนื่องจากไม่มีกองกำลังสหรัฐฯ เป็นเสาหลักคอยสนับสนุน หรือเป็นเกราะป้องกันภัยในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายให้อีกต่อไป

 

 

 

สายสัมพันธ์ตาลีบัน-อัลเคดา ตัดกันไม่ขาด ?

การหวนคืนสู่อำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถานนั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ย่อมหมายถึงการกลับมาของอัลเคดาด้วย อาจมีการกลับมาตั้งฐานที่มั่นในหุบเขา รวมทั้งค่ายฝึกผู้ก่อการร้าย และห้องปฏิบัติการทดลองอาวุธเคมีกันอีกครั้ง

 

 

ดร. โกเฮล ซึ่งศึกษากลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์สุดโต่งในภูมิภาคนี้มาหลายปี บอกกับบีบีซีว่า "เราไม่อาจแยกตาลีบันออกจากอัลเคดาได้ ทั้งสองกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด วัฒนธรรม และพันธกิจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกัน จนไม่อาจแยกทางกันเดินได้อย่างเด็ดขาด แม้ใจจริงของผู้นำกลุ่มจะต้องการทำเช่นนั้นก็ตาม"

G

ตาลีบันเคยให้การโอบอุ้มและปกป้องโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำอัลเคดานานหลายปี โดยให้เขาใช้อัฟกานิสถานเป็นศูนย์บัญชาการก่อเหตุโจมตีบันลือโลกในวันที่ 11 ก.ย. 2001 ทั้งไม่ยอมส่งตัวเขาให้กับทางการซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ให้การรับรองรัฐบาลตาลีบันในขณะนั้น

 

 

อย่างไรก็ตาม พลเอก เซอร์ นิก คาร์เตอร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหราชอาณาจักรมองว่า ผู้นำตาลีบันน่าจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตมาบ้าง และหากต้องการจะยึดครองอำนาจหรือปกครองประเทศร่วมกับผู้อื่นในคราวนี้ ตาลีบันจำต้องทำให้ประชาคมนานาชาติยอมรับ ด้วยการตัดสัมพันธ์กับอัลเคดาให้ขาดสะบั้น

 

 

แต่ถึงแม้ตาลีบันจะทำได้เช่นนั้น ก็ไม่อาจเป็นเครื่องยืนยันว่านับจากนี้พวกเขาจะควบคุมเครือข่ายอัลเคดาในอัฟกานิสถานเอาไว้ได้ การที่กองกำลังและหน่วยงานรัฐบาลเข้าไม่ถึงในหลายพื้นที่ของประเทศ เปิดโอกาสให้อัลเคดาตั้งฐานที่มั่นใหม่ได้ตามหุบเขาและหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล ประกอบกับการเมืองที่ยังปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ ส่อเค้าลางว่ากลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอย่างอัลเคดาและไอเอส จะได้กลับมาแสดงบทบาทอีกครั้งอย่างแน่นอน

++++++++++

ข่าว BBC ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง