รีเซต

ไฟเขียวรีดภาษีแวตจากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ - ‘เฟซบุ๊ก-ยูทูบ’ โดนด้วย คาดรายได้เพิ่ม 3 พันล.

ไฟเขียวรีดภาษีแวตจากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ - ‘เฟซบุ๊ก-ยูทูบ’ โดนด้วย คาดรายได้เพิ่ม 3 พันล.
ข่าวสด
9 มิถุนายน 2563 ( 16:29 )
162
ไฟเขียวรีดภาษีแวตจากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ - ‘เฟซบุ๊ก-ยูทูบ’ โดนด้วย คาดรายได้เพิ่ม 3 พันล.

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ( อี-เซอร์วิส) ทั้งการโหลดภาพยนตร์ เพลง หรือการจองโรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศและไม่มีการจดทะเบียนหรือตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย โดยออกเป็นร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะส่งร่างฉบับดังกล่าวให้กับสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอน และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว คาดว่าจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เดิม ครม. เคยอนุมัติหลักการเรื่องนี้ไปแล้ว โดยเป็นการแก้ไข ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศที่ประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายภาษี โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศกับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศ โดยถ้าผู้ประกอบการรายนั้นมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

 

ส่วนกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กับผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างประเทศ มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ แต่จะไม่มีผลต่อคนใช้บริการต้องมีค่าบริการเพิ่ม

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง รายงานว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ยังสอดคล้องกับคำ แนะนำ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แนะนำว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้มากที่สุด ซึ่งประเทศที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว

 

ขณะที่ผลกระทบของกฎมายฉบับนี้นั้น การมีกฎหมายในเรื่องนี้จะส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในราชอาณาจักร และนอกราชอาณาจักร และทำให้การจัดเก็บภาษีมีความสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้แก่การพัฒนาประเทศ ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักรมาใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีและการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี และยังอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจและประชาชน เพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ของรัฐและประชาชน และลดต้นทุนในการจัดทำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับภาษีอากรด้วย

 

“ในรายละเอียดว่าจะมีการจัดเก็บแก่ใครบ้าง จัดเก็บอย่างไร และเท่าใดนั้น กระทรวงการคลังจะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลของสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ต่อไป”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง