รีเซต

งบ 2564 : 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบแผ่นดิน 20 ล้านล้านบาท รัฐบาลรับเศรษฐกิจไทย “ไม่แน่นอนสูง-เสี่ยงต่ำกว่าคาดการณ์”

งบ 2564 : 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบแผ่นดิน 20 ล้านล้านบาท รัฐบาลรับเศรษฐกิจไทย “ไม่แน่นอนสูง-เสี่ยงต่ำกว่าคาดการณ์”
บีบีซี ไทย
2 กรกฎาคม 2563 ( 14:36 )
346
งบ 2564 : 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบแผ่นดิน 20 ล้านล้านบาท รัฐบาลรับเศรษฐกิจไทย “ไม่แน่นอนสูง-เสี่ยงต่ำกว่าคาดการณ์”

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาทแล้ว โดยที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "คิดเก่า" ไม่ได้คาดการณ์ถึงโลกหลังโควิด-19 พร้อมรุมวิพากษ์วิจารณ์การก่อหนี้ของผู้นำรัฐบาลนับจากรัฐประหารปี 2557

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ใช้เวลา 1 ชม. 30 นาทีในการนำเสนอหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 เพื่อขอความเห็นชอบจากสภาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยตั้งงบเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทจากเมื่อปีก่อน หรือคิดเป็น 3.1% และเป็นการตั้งงบขาดดุลบัญชี 623,000 ล้านบาท

ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ร่วมกันชี้ชวนให้สังคมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20,824,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 นับจากยึดอำนาจและเข้าบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 และได้จัดทำงบประมาณแผ่นดินมา 7 ปี

"น่าแปลกใจที่เงินมหาศาลนั้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก เพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น" นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลตั้งคำถาม

การจัดทำงบประมาณปี 2564 ของรัฐบาล วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท อยู่ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจที่ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 ของไทยจะลดลง โดยติดลบ 5-6% จากสงครามทางการค้า และผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ชี้ว่าแนวโน้มการระบาดภายในประเทศลดลง ทำให้รัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ได้ถึงระดับ "ใกล้เคียงภาวะปกติ" ภายในไตรมาส 2 และคาดว่าจะผ่อนคลายการท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4 ส่วนเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตที่ 4-5% เนื่องจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลง

แต่ถึงกระนั้นผู้นำรัฐบาลยอมรับว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมี "ความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้" หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่าง ๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งกรณีมาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลยังประมาณการด้วยว่า ในปีหน้าจะจัดเก็บรายได้ได้ 2,798,000 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากปีก่อน เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว จะเหลือรายได้สุทธิ 2,677,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.9% ของจีดีพี

ฐานะการเงินการคลังของประเทศ

  • หนี้สาธารณะ 7,018,731.4 ล้านบาท คิดเป็น 41.7% ของจีดีพี (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563)
  • เงินคงคลัง 512,955.1 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562)
  • เงินสำรองระหว่างประเทศ 235,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563) ซึ่งนายกฯ ระบุว่า "ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง"

รัฐบาลกำหนดให้งบประมาณปี 2564 อยู่ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลัก และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยที่ความมั่นคงยังถูกให้เป็นยุทธศาสตร์ข้อแรกเฉกเช่นการจัดทำงบประมาณเมื่อปีก่อน ๆ ภายใต้วงเงิน 416,003.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของงบทั้งหมด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้แจกแจงรายละเอียดของงบก้อนนี้ไว้ 12 ข้อ

"การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 4,729.8 ล้านบาท เพื่อให้คนในชาติมีจิตสำนึกรักและหวงแหน มุ่งจงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติโดยการพิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง" พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงรายละเอียดการจัดสรรงบตามแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงตอนหนึ่ง

ตัวเลขเศรษฐกิจฉบับรัฐบาลที่นำเสนอโดย พล.อ.ประยุทธ์ ก่อให้เกิดคำถามจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน ทั้งตัวเลขจีดีพีปี 2563 ติดลบ 5-6% ซึ่งไม่ตรงกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 24 มิ.ย. ว่าจีดีพีจะติดลบ 8.1% เช่นเดียวกับประมาณการการจัดเก็บภาษีที่ 2,677,000 ล้านบาท ก็ถูก "ฟันธง" ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการ พท. กล่าวว่า รัฐบาล "ประยุทธ์" เคย "ประเมินผิด" มาแล้ว 5 ปี (ปีงบประมาณ2557-2561) คิดเป็นเม็ดเงินที่ "พลาดเป้า" ไปตั้งแต่ระดับ 77,347-257,748 ล้านบาท/ปี จึงเกรงว่ารายได้ของรัฐอาจไม่เพียงพอต่อรายจ่าย อีกทั้งจะดันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้ทะลุ 60% อันเป็นกรอบของความยั่งยืน

พท. ชี้ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวก่อหนี้มากกว่า 28 นายกฯ

ส.ส. หลายคนยังอภิปรายโดยชี้ให้เห็นปัญหาในการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาล "ประยุทธ์" ตั้งแต่ปี 2558-2564 ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบมาชดเชยการขาดดุล 3,134,257 ล้านบาท ทว่าหากพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้เงินต้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2558-2564) จะพบว่าชำระหนี้ได้เฉลี่ย 58,435 ล้านบาท/ปี หากนำไปรวมกับหนี้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พท. คำนวณไว้ว่าต้องใช้เวลาถึง 70 ปี จึงชำระหนี้กว่า 4.1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาล "ประยุทธ์" ก่อไว้ในช่วง 7 ปีคืนได้หมด

เลขาธิการ พท. เห็นว่า ฐานะการเงินและการคลังของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายจากหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันและหนี้ต่างประเทศ ทั้งนี้ถ้าย้อนดูเม็ดเงินที่รัฐบาล "ประยุทธ์" กู้ไว้ตั้งแต่ปี 2557 จะพบมูลหนี้มหาศาล หากเทียบกับนายกฯ 28 คนก่อนหน้านี้ที่ก่อหนี้เฉลี่ยคนละ 125,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า "พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวก่อหนี้มากกว่านายกฯ คนอื่น ๆ ถึง 18 เท่า"

เขาจึงมอบฉายา "ผู้นำแห่งการก่อหนี้" ให้แก่นายกฯ คนที่ 29 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบโต้เรื่องนี้ในระหว่างชี้แจงกลางสภา โดยบอกเพียงว่า "ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ไม่อยากไปตั้งฉายาท่านใครก็แล้วแต่" และขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาว่าในระหว่างที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 เข้าสภา ก็ยังมีงบอีกหลายก้อนบังคับใช้อยู่ ทั้งงบ 2563 ในไตรมาสสุดท้าย, เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563

"ตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัลวาล มีรัฐบาลไหนเคยทำบ้างไหม สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องมองทั้งอนาคต และมองวันนี้ที่แก้ปัญหา" และ "ผมพูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วย และต้องทำให้ต่อเนื่อง หลายอย่างไม่สมบูรณ์ก็ต้องทำต่อ ไม่ใช่ทิ้งตรงนั้นมาทำตรงนี้อย่างเดียว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องการตั้งงบปี 2564 ด้วยการคิดแบบเก่า

สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณ 2564 ยังยึดมั่นกับโจทย์เดิม ๆ วิธีคิดเก่า ๆ โดยไม่คำนึงถึงโลกหลังโควิด-19 และทำเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤต อีกทั้งบางรายการส่อไปในทางทุจริต โดยรัฐทำตัวเสมือน "พ่อค้าหาบเร่ เร่ขายงบให้กับกลุ่มทุน"

ก้าวไกลตั้งฉายาจัดงบ "ลดลวงพราง" ให้กลาโหม

อีกประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปราย แล้วทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อดไม่ได้ที่จะต้องลุกขึ้นชี้แจงคือการจัดทำงบประมาณของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 223,464 ล้านบาท โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก.ก. กล่าวว่า หากดูเผิน ๆ เหมือนงบของกระทรวงกลาโหมลดลงจากปีก่อน 8,281.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.71% แต่จริง ๆ เป็นการ "ลดลวงพราง" เพราะถ้านำไปเทียบกับงบปี 2563 ก้อนสุดท้ายภายหลังการโอนงบตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 88,452 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดมากที่สุด จะพบว่าเป็นการ "ตัดโอนไป 17,700 บาท แต่ได้คืนมา 1 หมื่นล้านบาท"

ส.ส.ฝ่ายค้านรายนี้ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการ "อำพรางงบผูกพัน" หลังตรวจสอบพบว่ายังมีการตั้งงบจัดซื้ออาวุธถึง 22 โครงการ วงเงิน 4,395.7 ล้านบาท

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า การตั้งงบผูกพันข้ามปีได้ตรวจสอบกับสำนักงบประมาณแล้ว ซึ่งในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต้องใช้เวลาในการผลิต ชำระเงิน

"ที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้รับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ เลย มีแต่ของเก่าเกิน 70% ก็ต้องจัดซื้อมาทดแทนเพื่อไม่ให้ไปเสียค่าซ่อมบำรุง ภารกิจเราคือรักษาอธิปไตยแห่งดินแดน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ และวันนี้เทคโนโลยีได้พัฒนาไปก้าวไกล หากเทคโนโลยีเราไม่ทันสมัยก็อาจจะเป็นปัญหากับเราในอนาคต... ขอความเข้าใจกันบ้าง หลายคนก็มีลูกหลานเป็นทหาร ถ้าไม่มีอาวุธป้องกัน ก็จะทำให้เกิดความสูญเสียลูกหลานของท่านได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง