"ฟิทช์" มองเศรษฐกิจไทยเปราะบางหนี้สูง

คุณพชร ศรายุทธ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิต สถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เติบโตช้า และหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมถดถอยลง โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน ของอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8
ทั้งนี้ฟิทช์ มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงร้อยละ 0.50 ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 น่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในด้านต้นทุนการเงิน และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ
แต่ไม่ได้ช่วยการฟื้นตัวของรายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนสถานะการเงินของภาคครัวเรือน ยังไม่มีความเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ มองว่า คุณภาพสินทรัพย์ จะยังคงเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมในปี 2568 แม้จะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และมีการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ และลดระดับหนี้สินครัวเรือน
โดยคุณภาพสินทรัพย์ของผู้ประกอบการบางรายนั้น ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการประเมินสินเชื่ออย่างรวดเร็ว และทันเวลา
ขณะที่แรงกดดันด้านการเติบโตและคุณภาพสินทรัพย์ของผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียนในไทย ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในระยะสั้น แต่บริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี น่าจะมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจ
ส่วนแนวคิดของรัฐบาลในการรับซื้อคืนหนี้ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ขณะนี้ยังยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งการที่จะรับซื้อหนีเสีย หรือ NPL
จึงต้องดูว่าวัตถุประสงค์จะซื้อไปเพื่ออะไร การจะใช้แนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการยืดเวลาชำระหนี้ หรือปรับลดวงเงินชำระหนี้ อาจจะไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลงได้เท่าไรนัก ขณะที่หากจะยกหนี้ให้เลย อาจไม่ได้สร้างวินัยทางการเงินที่ดี และยังใช้งบประมาณสูง อาจได้ไม่คุ้มเสีย