รีเซต

เตือนภัย 10 "ข่าวปลอมล่าสุด" 9 – 15 สิงหาคม ประชาชนสนใจเรื่องอะไร?

เตือนภัย 10 "ข่าวปลอมล่าสุด" 9 – 15 สิงหาคม ประชาชนสนใจเรื่องอะไร?
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2567 ( 12:35 )
22

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,495 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 288  ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 270  ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 14 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 168 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 106 เรื่อง


ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย


กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 127 เรื่อง


กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 52 เรื่อง


กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 2 เรื่อง


กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 7 เรื่อง


กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 19 เรื่อง


นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่ามีข่าวด้านสุขภาพ และเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ รองลงมาคือ กลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน มากถึง 5 อันดับ ซึ่งแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจต่อโครงการนี้มากที่สุด 


โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง น้ำกัญชาคั้นสด ป้องกันและรักษาโรคได้ดีกว่าสารสกัดกัญชา


อันดับที่ 2 : เรื่อง การโหลดแอปฯ ยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี


อันดับที่ 3 : เรื่อง ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ


อันดับที่ 4 : เรื่อง รัฐเปิดช่องทางลงทะเบียนทางรัฐเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ยังลงทะเบียนไม่ได้


อันดับที่ 5 : เรื่อง จ้างเปลี่ยนสัญชาติจีนเป็นไทย ได้ใบเกิด ทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชน สามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนคนไทย


อันดับที่ 6 : เรื่อง ผู้ที่กระเพาะมีปัญหา กินของเย็น ผลไม้ให้น้ำมาก อาการจะยิ่งรุนแรง ทำให้ใจสั่นและเต้นแรง


อันดับที่ 7 : เรื่อง ทางรัฐเปิดให้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน LBC66 Wallet


อันดับที่ 8 : เรื่อง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รับฝาก/ถอน ขั้นต่ำ 1 บาท สมัครฟรีผ่านลิงก์


อันดับที่ 9 : เรื่อง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถให้ทายาทรับเงิน 30,000 บาท ได้ที่ พม.


อันดับที่ 10 : เรื่อง มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปฯ ทางรัฐ

             

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน 3 อันดับ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 5 อันดับ โดยโครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องโครงการรัฐอื่นๆ ด้วย” นายเวทางค์ กล่าว


สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “น้ำกัญชาคั้นสด ป้องกันและรักษาโรคได้ดีกว่าสารสกัดกัญชา” เป็นการสร้างข้อมูลที่บิดเบือน โดยกระทรวง ดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบข้อมูลกับ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงข้อมูลจริงว่า สารสำคัญในกัญชา คือสาร THC ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่ว่าจะการรับประทานในรูปแบบใดก็ตาม และการคั้นทำให้ได้รับสารจากกัญชาให้ปริมาณไม่แน่นอนในแต่ละครั้ง ไม่อาจทำการวิจัยที่แน่ชัดได้ เหมือนกับสารสกัดกัญชา


ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “การโหลดแอปฯ ยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี” กระทรวง ดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ยังไม่มีการเชื่อมกับบัญชีธนาคารและไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด มีเพียงการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการของหน่วยงานรัฐเท่านั้น

    

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด



ข่าวที่เกี่ยวข้อง