รีเซต

หมอเรวัต ชี้วัคซีนโควิด ป้องกันป่วย-ตาย ทุกยี่ห้อ เผยตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนเทียบกันไม่ได้

หมอเรวัต ชี้วัคซีนโควิด ป้องกันป่วย-ตาย ทุกยี่ห้อ เผยตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนเทียบกันไม่ได้
มติชน
9 พฤษภาคม 2564 ( 10:02 )
64
หมอเรวัต ชี้วัคซีนโควิด ป้องกันป่วย-ตาย ทุกยี่ห้อ เผยตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนเทียบกันไม่ได้

นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้แชร์คลิปวิดีโอ บนเฟซบุ๊ก นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ให้ข้อมูลวัคซีนเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าควรฉีดหรือไม่

 

 

โดยนายแพทย์เรวัต ระบุถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนหมายถึง เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วโอกาสที่จะติดเชื้อหรือป่วยน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไฟเซอร์ ระบุมาว่า มีประสิทธิภาพที่ 95 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข้าไปแล้ว มีโอกาสติดเชื้อหรือป่วย น้อยลงไป 95 เปอร์เซ็นต์

 

 

นายแพทย์เรวัต ระบุด้วยว่า ตัวเลขประสิทธิภาพดังกล่าว ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างวัคซีนแต่ละตัวได้ เพราะ การทำการทดลองฉีดนั้นไม่ได้ทดลองฉีดในสถานการณ์, กลุ่มคน และช่วงเวลาเดียวกัน

 

 

ยกตัวอย่างเช่น ไฟเซอร์กับโมเดอร์นา ได้มีการทดลองฉีดในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกัน ประสิทธิภาพก็เลยใกล้เคียงกันได้เช่นไฟเซอร์อยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ โมเดอร์นา จะอยู่ที่ราว 94 เปอร์เซ็นต์

 

 

สำหรับจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น มีการทดลองฉีดในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกามีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง อีกทั้งยังไปฉีดในแอฟริกาใต้และบราซิล ซึ่งมีการระบาดที่รุนแรงและมีโควิดที่กลายพันธุ์ด้วย ทำให้ประสิทธิภาพนั้นต่ำกว่า ดังนั้นการนำตัวเลขประสิทธิภาพมาเปรียบเทียบกันนั้นจึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินว่าวัคซีนใดดีกว่ากัน

 

 

นอกจากนี้นายแพทย์เรวัต ยังเปิดเผยถึงวิธีทดลองวัคซีน ด้วย โดยมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 1 กลุ่ม เช่น 4 หมื่นคน 2 หมื่นคน ใช้วัคซีนหลอก กับอีกกลุ่มใช้วัคซีนจริง ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนหลอกนั้นมีผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนนั้นไม่มีผู้ป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

 

 

ดังนั้นเมื่อถามว่าวัคซีนยี่ห้อไหนที่ฉีดแล้วไม่ตายไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล คำตอบคือทุกยี่ห้อ ดังนั้นนี่จึงเป็นคำตอบว่าเราฉีดวัคซีนไปเพื่ออะไร

 

 

สำหรับประเทศไทย การระบาดระลอกที่ 3 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่ติดง่าย อาการรุนแรง ช่วง 1 เดือนเศษๆ มีผู้ป่วยติดเชื้อสูงถึง 52,000 รายโดยประมาณ อาการหนัก 1,100 ใส่เครื่องช่วยหายใจประมาณ 300 คน ตายมากกว่า 200 คน

 

 

ไม่อยากให้ท่านใดเลยเสี่ยงกับการติดเชื้อและป่วย ดังนั้นเป้าหมายหลักของการฉีดวัคซีนคือการสร้างเกราะป้องกันเพื่อให้คนที่ได้รับวัคซีนไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ป่วยหนัก และเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบผลข้างเคียงของวัคซีน กับการป่วยหนักจากโควิด การติดเชื้อโควิดมีอันตรายและทรมาณมากกว่า ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อมูลให้ได้พิจารณากันว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง