ทำไมกรุงเทพฯ ครองแชมป์? Workation เที่ยว+ทำงาน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ holidu.co.uk ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ คือปลายทางอันดับ 1 ของชาวต่างชาติที่นิยมมาเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานพร้อมพักผ่อนให้เต็มที่ โดยรวบรวมข้อมูลมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ใช้คีย์เวิร์ด ‘100 อันดับเมืองที่ดีที่สุดในโลก’ จากเว็บไซต์ bestcities.org และแหล่งอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือ รวมถึงจำนวนภาพจากแฮชแท็กและการเช็กอินใน Instagram ด้วย
---ผลสำรวจนี้จำแนกข้อมูลอย่างไร---
การจำแนกข้อมูลจะแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการทำงาน และส่วนของการพักผ่อน ทั้งหมดเป็นค่าเฉลี่ย
ส่วนของการทำงาน พิจารณาจากความเร็วและจำนวนฟรีไวไฟ จำนวน Co-working spaces ราคากาแฟ ราคาแท็กซี่ และราคาเบียร์เผื่อดื่มหลังเลิกงาน
ส่วนของที่พัก พิจารณาจากราคาห้องพักต่อ 1 เดือน ราคาอาหาร 1 มื้อในร้านระดับปานกลาง สภาพอากาศ จำนวนสถานที่ท่องเที่ยว และจำนวนภาพที่ติดแฮชแท็กชื่อเมืองนั้น ๆ ในอินสตาแกรม
---จำนวนฟรีไวไฟสำคัญกว่าความเร็ว---
แม้ว่าความเร็วของไวไฟในกรุงเทพจะไม่ได้เร็วแรงที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 28 Mbps ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง
แต่จำนวนฟรีไวไฟที่มีตามจุดต่าง ๆ ตามร้านกาแฟ ร้านค้า ทั้งของทางร้านเองและของค่ายมือถือต่าง ๆ ก็เป็นจุดที่ทำให้ชนะใจนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งฟรีไวไฟในกรุงเทพ มีมากกว่า 450,000 จุด
---นักท่องเที่ยวเต็มใจจ่ายค่าครองชีพในกรุงเทพฯ---
ราคาเฉลี่ยของโรงแรมต่อ 1 เดือนอาจสูงไบ้าง อยู่ที่ 415.18 ปอนด์ หรือราว 17,000 บาท แต่ราคานี้แทบจะรวมค่าอาหารทั้งหมด รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่สะดวกสบาย และไม่ว่าจะหันไปทางไหน คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพก็พูดภาษาอังกฤษได้
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างค่ากาแฟอยู่ที่ 66.98 บาท (1.56 ปอนด์) รถแท็กซี่ต่อ 1 กิโลเมตร 35.21 บาท (0.82 ปอนด์) เบียร์ 2 ที่ 132.27 บาท (3.08 ปอนด์) และอาหารในร้านระดับปานกลาง 66.09 บาท (1.54 ปอนด์) ชาวต่างชาติก็เต็มใจที่จะจ่าย
การลงทุนต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลาย หมายความว่า กรุงเทพในปัจจุบันทันสมัย พร้อมให้บริการกับนักลงทุนและนักธุรกิจอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาพักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ก็มีเยอะจนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวัด วัง ตลาดน้ำ ร้านนวด ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่อาหารท้องถิ่นหรือสตรีทฟู้ดที่พบเจอได้ทุกตรอกซอกซอย
---นักท่องเที่ยวเข้าไทยทะลุล้าน หลังวิกฤตโควิด-19---
ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้วเกิน 1 ล้านคน และกว่า 6 แสนคน มาลงเครื่องที่กรุงเทพฯ รองลงมาคือภูเก็ต
และตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยยกเลิกระบบ Test&Go คือ คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วไม่ต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR และไม่ต้องกักตัว ก็ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นวันละกว่า 13,000 – 19,000 คนด้วย ซึ่งจะยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะจนถึงขณะนี้มียอดสะสมของการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass กว่า 2.6 ล้านคน
ส่วน 5 อันดับ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมามากที่สุด คือ สหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
ด้าน ‘วิชิต ประกอบโกศล’ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีอย่างมากที่มีการยกเลิกระบบ Test&Go แต่ในมุมภาคเอกชนต้องการให้ ศบค.พิจารณายกเลิกระบบ Thailand Pass ด้วย โดยขอให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดกลุ่มทัวร์เข้ามาเที่ยวมากขึ้น
—————
แปล-เรียบเรียง: พิชญาภา สูตะบุตร
ภาพ: Reuters