รีเซต

เอกชน สะท้อนปัญหาขึ้นค่าแรง 450 บาท แนะรัฐบาลใหม่ พิจารณารอบคอบ

เอกชน สะท้อนปัญหาขึ้นค่าแรง 450 บาท แนะรัฐบาลใหม่ พิจารณารอบคอบ
TNN ช่อง16
29 พฤษภาคม 2566 ( 10:15 )
89

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ของพรรคก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น อยากให้ดูข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบให้ดีก่อน รวมทั้งปรึกษาข้าราชการประจำถึงความเหมาะสมของค่าแรงงานขั้นต่ำ และมีการเปิดรับฟังความเห็นให้ทั่วถึง ทั้งกลุ่มนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากที่มีลูกจ้าง และไม่สามารถแบกรับภาระในส่วนนี้ได้ เช่น ภาคท่องเที่ยว บริการ และภาคเกษตร 

สำหรับกลุ่มนายจ้างยืนยันไม่คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรง แต่การปรับขึ้นตามใจของนโยบายที่มีการหาเสียง มีความเสี่ยง ที่จะกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนทั่วโลก และกระทบต่อภาคการผลิตของนักลงทุนไทยในกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เพราะค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการผลิต 

นายพจน์ กล่าวว่า ส่วนตัวย้ำว่ามีความกังวลใจกับวิธีคิดของในการทำงานของฝ่ายปกครองในทางการเมือง เพราะไม่ใช่เฉพาะเรื่องค่าแรง ยังมีอีกหลายเรื่องที่นำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง แต่เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาอยู่ได้ด้วยเอกชน เป็นคนนำรายได้เข้าประเทศมาเสียภาษี เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงอยากให้ภาคการเมืองรับฟังภาคเอกชนให้ทั่วถึงด้วย

ที่ผ่านมามีผลกระทบ ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายด้าน เช่น วัตถุดิบการผลิตที่ขาดแคลน และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ และหากยังเจอ เรื่องค่าแรงก็จะเป็นโจทย์ใหม่เข้ามาซ้ำเติมอีก ส่วนการพิจารณาย้ายฐานการผลิตนั้น เร็วเกินไป ที่จะประเมิน แต่หากการเมืองไทย ยังใช้ประเด็นค่าแรงงานขั้นต่ำมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง อาจมีการพิจารณาย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นได้

นายกรกฤช จุฬางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานโครงการนักอุตสาหกรรม รุ่นใหม่ (Young FTI) กล่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เดินทางมาพบกับผู้ประกอบการใน ส.อ.ท. ทำการบ้านมาอย่างดี ให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และมุมมองจากตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ได้อย่างครบถ้วน แต่มีประเด็นที่อยากให้มีการพิจารณาอีกครั้งคือ ในเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกล ที่จะปรับขึ้นทันทีเป็น 450 บาทต่อวัน ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นต้นทุนหลักของทุกอุตสาหกรรม 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ขอเวลาปรับตัวก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบกระชากทีเดียว แต่เข้าใจดีว่าวัตถุประสงค์ในการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น และรัฐบาลต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย เพราะการแข่งขันในปัจจุบันไม่ได้แข่งขันแค่ภายในประเทศอย่างเดียว ไทยยังมีการแข่งขันกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง