ASIAN ครึ่งปีหลังฟื้นเต็มสูบ ชี้ดีมานด์-ออเดอร์หนุนธุรกิจ
ASIAN เผยภาพรวมธุรกิจฟื้นตัวเต็มสูบช่วงครึ่งปีหลัง 2566 โดยกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงปีนี้ยังเป็นพระเอก แถมมีออเดอร์ในมือต่อเนื่อง มองความต้องการทั่วโลกยังสูง เตรียมเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่ม Private Label พร้อมวางงบกว่า 1,000 ล้านบาท อัพฐานการผลิต มั่นใจยอดขายรวมโต 15% ตามเป้า
นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เปิดเผยถึงแนวโน้มกำลังซื้อคาดว่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 โดยภาพรวมทั้งปียังมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกจะยังชะลอตัว จากการที่กำลังซื้อทั่วโลกจะยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายรวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 15%จากปีก่อน
อาหารสัตว์โตแรง
โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2566ความต้องการของตลาดโลกยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของตลาดต่างประเทศ และการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ของบริษัทเองทั้ง 3 แบรนด์ คือ Monchou, Hajiko และ Pro อย่างไรก็ดีธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2566บริษัทยังมีออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศ และบริษัทมีแผนเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่ม Private Label คาดว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะเติบโตได้มากกว่า 15%จากปีก่อน
ทางด้านอาหารสัตว์น้ำที่ในปีก่อนหน้ามีปัญหาคุณภาพอาหารและการปรับโครงสร้างการจัดการ คาดว่าในปี 2566 จะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงปี 2564เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์น้ำดีขึ้น สามารถกลับมาสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น ส่วนอาหารแช่เยือกแข็งอาจมีชะลอตัวลงบ้างในปี 2566 เนื่องจากดีมานด์ตลาดสหรัฐอเมริกาในกลุ่มสินค้า VAP ลดลง
ขณะที่ธุรกิจทูน่านั้นมองว่าการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากธุรกิจยังเล็ก และมีกำไรขั้นต้นไม่สูงมาก การเติบโตส่วนใหญ่เติบโตจากมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนปลาทูน่าที่ยังมีแนวโน้มสูง โดยคาดว่าจะโตได้ 12% จากปีก่อน แม้ต้นทุนจะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ความต้องการยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากตลาดประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง
ทุ่มพันล้านอัพฐาน
ทั้งนี้ บริษัทมองว่ายังคงต้องจับตารอดูสถานการณ์ทั้ง 2 ตลาดหลักดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Value Added Product (VAP) ของตลาดสหรัฐ ที่อาจชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งตลาดยุโรปที่ชะลอตัวลงจากต้นทุนพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ และความต้องการของกลุ่ม HORECA (Hotel , Restaurant and Catering) ที่ยังจำกัด
นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1,371 ล้านบาท สำหรับใช้ 3 ธุรกิจหลัก คือ การขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอีก 6,500 ตัน การสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 จำนวน 1,173 ล้านบาท การปรับปรุงประสิทธิภาพของสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำจำนวน 54 ล้านบาท และลงทุนโครงการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งราว 144 ล้านบาท
โบรกเล็งโอกาสสะสม
บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) ระบุว่าฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นกลางต่อ ASIAN โดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งแบบเพิ่มมูลค่า (Value Added Product; VAP) อาจสะดุดบ้างในระยะสั้น จากสต๊อกสินค้าของลูกค้าสหรัฐอยู่ในระดับสูงหลังสถานการณ์ Port Congestion คลี่คลาย และกลุ่มลูกค้ายุโรปที่เผชิญวิกฤติพลังงานและเงินเฟ้อ ตามลำดับแต่เรายังชอบทั้ง 2 ธุรกิจหลักในระยะยาว เพราะเรามองว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงน่าจะมีการเติบโตที่มั่นคงตามภาพอุตสาหกรรม
และธุรกิจ VAP นั้นเรามองว่าไทยมีความได้เปรียบในเชิงของ Supply Chain รวมถึงความรู้เชิงปฏิบัติการที่พร้อมกว่าคู่แข่งเรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ TP23F 21.30 บาท อิง PER ราว 16 เท่า (+1SD จากค่าเฉลี่ย 5 ปี)