ใต้เจอคลัสเตอร์วงน้ำชา-น้ำกระท่อม เร่งฉีดวัคซีนเพิ่ม คาดปลายพ.ย.เปิดบางโรงเรียนได้
จว.ใต้เจอคลัสเตอร์วงน้ำชา-น้ำกระท่อม เร่งฉีดวัคซีนเพิ่ม คาดปลายพ.ย.เปิดบางโรงเรียนได้ กำชับทุกจังหวัดจัดงานบุญไม่เกินจำนวนที่กำหนด
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าหมื่นราย คือ 8,675 ราย เสียชีวิตลดลงเหลือ 44 ราย หายป่วย 9,589 ราย อยู่ในการรักษา 100,042 ราย อาการหนัก 2,437 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 536 ราย แนวโน้มถือว่าลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการติดตามสถานการณ์โลก เมื่อฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากขึ้น
แม้อัตราป่วยจะพบได้ แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะลดลงเหมือนกันทั่วโลก ส่วนการตรวจ ATK วันที่ 20 ส.ค. - 25 ต.ค. พบผลบวก 8.41% ซึ่งแต่ละพื้นที่อัตราต่างกัน บางพื้นที่พบ 1-2% บางพื้นที่สูงถึง 20% ผู้เสียชีวิต 44 ราย มาจากภาคใต้ 14 ราย ภาพรวมทั้งประเทศผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังคิดเป็น 95%
สำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบติดเชื้อ 1,896 ราย สธ.และศบค.เป็นห่วงยังจับตาใกล้ชิด โดย 10 อันดับติดเชื้อสูงสุด จะเห็นหลายจังหวัดภาคใต้ เช่น ปัตตานี ขึ้นมาอันดับ 2 จำนวน 618 ราย , สงขลาอันดับ 3 จำนวน 586 ราย นครศรีธรรมราชอันดับ 4 จำนวน 582 ราย รวมถึงนราธิวาส ยะลา และตรัง เข้ามาอยู่ใน 10 อันดับ เพราะมีคลัสเตอร์เรือนจำ 163 ราย ใน 10 จังหวัติดเชื้อสูงสุด หลายจังหวัดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าระยะ 1 ที่จะเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. ด้วย เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ที่ประชุม สธ.ถือว่าเป็นกลุ่มจังหวัดเฝ้าระวัง (Watch List)
ส่วนคลัสเตอร์รายงานวันนี้มีความหลากหลาย และกลุ่มเดิมที่รายงานซ้ำ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ในกทม.และปริมณฑล เน้นย้ำว่า ประชาชนที่เจ็บป่วย มีไข้ อาการทางเดินหายใจ ไป รพ.ต้องให้ประวัติที่ครบถ้วน เมื่อแพทย์ พยาบาลติดเชื้อ 1 รายต้องกักตัวและสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไป สำหรับประจวบคีรีขันธ์ เป็นคลัสเตอร์โรงงานบริษัท , แม่ฮ่องสอน เป็นกลุ่มแรงงาน ส่วนชุมชน ตลาดยังมีรายงานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ คือ เชียงใหม่ ลพบุรี และเพชรบุรี โดยเชียงใหม่ยังมีรายงานแคมป์คนงานก่อสร้างด้วย ขณะที่ชายแดนใต้เป็นวงน้ำชา ที่ประชาชนมารวมกลุ่ม ล้อมวงดื่มน้ำชามีรายงานติดเชื้อ มีวงน้ำกระท่อม ใช้แก้วใบเดียวกัน ทำให้ติดเชื้อแพร่กระจายได้
สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีการประชุม ศบค.ส่วนหน้าพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ ประชาชน ประชาสังคม และเอกชน มีผู้แทนจุฬาราชมนตรี เข้าร่วมประชุมและเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้คำแนะนำในหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะการจัดการการติดเชื้อควบคุมการแพร่ระบาดต้องสอดคล้องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วย โดยผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 12 รายงานว่า 4 จังหวัดชายแดนใต้ ติดเชื้อสูงสุดวันละประมาณ 2 พันราย อัตราตายสูงที่ปัตตานี นราธิวาส รวมๆ ประมาณ 1% พอๆกับอัตราเฉลี่ยของประเทศ 80% อยู่ในกลุ่มสูงอายุ โรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และ 90% กลุ่มเสียชีวิตไม่เคยรับวัคซีนหรือรับไม่ครบ
ส่วนการรายงานแผนการควบคุมการแพร่ระบาด ผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดรายงานแผนว่า การระดมฉีดวัคซีนจะทำให้ได้มากขึ้น มีแผนเพิ่มศักยภาพการฉีด โดยระดมบุคลากรส่วนกลาง สธ.ไปช่วย เช่น สงขลา ฉีดเข็มหนึ่ง 1.5 หมื่นรายต่อวัน เข็มสอง1 หมื่นรายต่อวัน รวม 2.5 หมื่นรายต่อวัน สัปดาห์นี้จะเพิ่มเข็มหนึ่งเป็น 3 หมื่นรายต่อวัน จะระดมบุคลากรภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมด้วยช่วยกัน โดยกองทัพอากาศอำนวยความสะดวกส่งบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ลงพื้นที่ ช่วยให้การระดมฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน หรือปัตตานี ฉีดวันละ 7 พันโดส จะฉีดเพิ่มเป็น 1.4 หมื่นโดสต่อวัน
"ศบค.ส่วนหน้าไปพบและรับฟังข้อเสนอ เช่น รับการสนับสนุนอุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ วัคซีนและยา โดยบูรณาการให้สอดคล้องวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษา ศาสนา ประเพณี ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ลูกหลานไปฉีดวัคซีน เพราะเมื่อรับครอบคลุมเป็นไปได้จะเปิดการเรียนการสอนต่อไป จากการสำรวจนักเรียน 2.9 แสนกว่าราย ลงทะเบียนแล้ว 70% โดยกว่า 80% อยู่ในสงขลา การรณรงค์ฉีดวัคซีนมีการเร่งให้ครูและบุคลากรด้วย บางพื้นที่ บางอำเภอ บางโรงเรียนที่มีความพร้อม คาดว่าช่วยปลาย พ.ย.อาจเปิดได้บางโรงเรียน" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับเทศกาลทอดกฐิน บุญบั้งไฟ บางจังหวัดห้ามจัดเกิน 500 คน บางแห่งยังจัดเกิน ขอให้จังหวัดช่วยกำชับ เรายังไม่ผ่อนคลายถึงขีดสุด ต้องค่อยเป็นค่อยไป หากจะไปร่วมงานมีลอยกระทงทอดกฐิน งานบุญใดๆ ขอยึดหลักป้องกันตนเองสูงสุด เฝ้าระวังคนใกล้ชิด เจอคนละเลย ช่วยกันตักเตือนอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จะผ่านด้วยกันไปได้อย่างปลอดภัย