รีเซต

รพ.รามาฯ ชูเครื่องตรวจเชื้อจากน้ำลาย หาสายพันธุ์ "โอไมครอน" คัดกรองได้มากและเร็ว

รพ.รามาฯ ชูเครื่องตรวจเชื้อจากน้ำลาย หาสายพันธุ์ "โอไมครอน" คัดกรองได้มากและเร็ว
ข่าวสด
2 ธันวาคม 2564 ( 18:35 )
119
รพ.รามาฯ ชูเครื่องตรวจเชื้อจากน้ำลาย หาสายพันธุ์ "โอไมครอน" คัดกรองได้มากและเร็ว

วันที่ 2 ธ.ค. 2564 ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการตรวจเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ส่วนใหญ่อยู่บนยีนที่เป็นโปรตีนหนาม แต่การตรวจด้วย RT-PCR แทบจะไม่มีผลกระทบ ยังตรวจหาเชื้อนี้ได้ แต่ไม่สามารถแยกสายพันธุ์ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบชุดตรวจที่จำเพาะต่อสายพันธุ์โอไมครอน โดยดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมเชื้อดังกล่าวและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำ จากนั้นได้ส่งไปที่เกาหลีเพื่อสังเคราะห์สารต่างๆ ที่มาตรวจ RT-PCR จำเพาะต่อเชื้อโอไมครอนต่อไป คาดแล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์

 

“โอไมครอนอาจดูว่าระบาดเร็วขึ้น วัคซีนอาจจะไม่ได้ผล แต่ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วจะช่วยให้มีอาการน้อยลงแทนที่จะอาการหนัก ถึงตอนนี้คนไทยจะมีข่าวว่ากลัววัคซีน แต่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือฉีดและป้องกันตัวเอง อย่างสวมหน้ากากก็มากกว่าต่างประเทศ ดังนั้น แม้อาจจะเจอเชื้อโอไมครอนเข้ามา แต่การที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก จะช่วยลดไม่ให้รุนแรง จึงขอให้ช่วยกันฉีดวัคซีน ส่วนการตรวจไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีชุดตรวจจำเพาะแล้ว เพื่อให้สบายใจได้”

 

ดร.เอกวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจแอนติเจนยังสามารถตรวจเจอได้ เช่น ญี่ปุ่นผลิตและใช้เครื่องตรวจหาเชื้อโควิดจากน้ำลาย Lumipulse G1200 ในสนามบิน เพื่อตรวจคนเดินทางเข้าประเทศและตรวจจับได้ โดยใช้สารฟลูออเรสเซนส์ตรวจทำให้มีความไวสูง เมื่อตรวจเจอผลบวกแล้วก็นำไปตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR

 

ทั้งนี้ ถ้าเทียบการตรวจเชื้อจากน้ำลายและการแยงจมูก เชื้อที่จมูกมากกว่า แต่ก็มากกว่ากันไม่มาก แต่น้ำลายสะดวกในการเก็บตัวอย่างง่ายด้วยตัวเอง ตรวจได้จำนวนมากใช้เวลาไม่นาน 30-40 นาที โดยหลักการดังกล่าวจึงสามารถนำมาสกรีนคนกลุ่มใหญ่ได้ เช่น นักเรียน นักศึกษา โรงงาน และสนามบิน ซึ่งเหมาะมากในสถานที่คนเดินทางเข้าออกเยอะ วิธีการหากมีเครื่องนี้ตั้งอยู่ สมมติว่า 5 เครื่อง 1 เครื่องตรวจได้ 200 ตัวอย่าง พอคนลงเครื่องมาก็มีการเก็บตัวอย่างใช้เวลา 30 นาที ระหว่างรอโหลดกระเป๋า ไม่ต้องรอรถรับส่งโรงแรมเพื่อไปรอตรวจ RT-PCR คิดว่าน่าจะสะดวก แต่เข้าใจว่าตอนนี้ต้องเฝ้าระวังเข้ม กังวลว่าเชื้อจะหลุดข้ามา จึงต้องใช้ตรวจ RT-PCR

 

"ปัจจุบัน รพ.รามาธิบดี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้นำเครื่องนี้มาใช้คัดกรองผู้ป่วยและญาติที่มา รพ. และตรวจในกลุ่มบุคลากร เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง วันเว้นวัน ผลการตรวจพบว่า กรณีที่มีการกำกวมเหมือนจะเป็นผลบวก รพ.ก็ส่งตรวจ RT-PCR ซ้ำ พบผลลบ กรณีนี้เรียกว่าผลบวกลวง ถือว่าไม่น่ากังวลเพราะบวกปลอมทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น โดยพบอยู่ที่ 2% แต่สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ ผลลบปลอม แต่จากการใช้เครื่องตรวจน้ำลายยังไม่พบให้ผลลบปลอม" ดร.เอกวัฒน์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เครื่องตรวจน้ำลายแตกต่างจาก ATK อย่างไร ดร.เอกวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากเก็บตัวอย่างสะดวกแล้ว เนื่องจากเป็นเครื่องอัตโนมัติ จึงสามารถอ่านผลและส่งรายงานผลเข้าโทรศัพท์มือถือได้ ที่สำคัญคือ ATK แยงจมูกต้องผ่านการประเมินจาก อย. แต่ในช่วงที่ทำการประเมินกับตัวอย่างเชื้อเสมือนจริง แต่จากการใช้งานจริงในภาคสนาม ATK จะมีทั้งบวกปลอมและลบปลอมสูงมาก จากปัญหาการเก็บตัวอย่าง เช่น กรณีถ้าเป็นขี้มูกจะเจอบวกปลอม 5% ลบปลอมเจอได้จากการที่เก็บตัวอย่างเชื้อไม่ดี หรือเก็บชุดตรวจ ATK ไม่ดี

 

นอกจากนี้ ATK ยังมีความไวน้อยกว่า ทั้งนี้ เครื่องตรวจน้ำลายจะให้ผลบวกปลอมน้อยกว่า เพราะเมื่อบ้วนน้ำลายดีๆ ในขณะที่ยังไม่ได้กินข้าว เคี้ยวหมากมาก่อน จะไม่มีปัญหา นอกจากนี้ การตรวจจะต้องนำน้ำลายมาปั่นแยกชั้น มีกระบวนการมากขึ้น ทำให้ตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ตรวจแล้วมีก็คือมี ไม่มีก็คือไม่มี จะตอบได้ชัดกว่า แต่การแยงจมูกไม่ถูกต้องก็ไม่เจอจุดที่มีเชื้อ หรือหากเก็บได้อะไรมาก็ตรวจไม่เจอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง