รีเซต

ย้อนรอยวิกฤตการเงิน จากคุ้มครองเงินฝาก เต็มจำนวน...เหลือ 1 ล้านบาท

ย้อนรอยวิกฤตการเงิน จากคุ้มครองเงินฝาก เต็มจำนวน...เหลือ 1 ล้านบาท
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2564 ( 12:02 )
199
ย้อนรอยวิกฤตการเงิน จากคุ้มครองเงินฝาก เต็มจำนวน...เหลือ 1 ล้านบาท

วันที่ 11 ส.ค. เป็นกำหนดสำคัญ สำหรับคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ควรทราบเอาไว้ ว่าทางการ อย่างสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีการลดความคุ้มครองเงินฝากจากเดิมที่คุ้มครองอยู่ 5 ล้านบาท ลงมาเหลือ 1 ล้านบาท และถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้เคยคุ้มครองสูงถึง 100% มาแล้วในอดีต สาเหตุอะไรถึงต้องลด และเมื่อลดมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับเงินฝากทั้งระบบ วันนี้เราจะพาคุณผู้ชมไปติดตามรายละเอียด



ต้องบอกว่า ระบบการคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2522 แต่เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ เนื่องจาก บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ก่อนหน้านั้นต้องบอกว่าเฟื่องฟูอย่างมาก แต่จากแนวทางการกำกับกิจการ ที่ไม่รัดกุม ทำให้บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ปล่อยกู้ให้ประชาชน เพื่อมาซื้อหุ้นของบริษัทตนเอง ถ้ายังจำกันได้ กู้เงินไปลงทุน ก่อนวิกฤตปี 40 นี่น่าจะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ดำเนินการ จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปจากหลักร้อย สู่หลักพันบาทโดยไม่มีปัจจัยรองรับ 


และเมื่อสถานการณ์ต่างประเทศเริ่มวิกฤต ราคาน้ำมันพุ่งสูง อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศสูงขึ้น สวนทางกับราคาหุ้นที่ร่วงลง จากความเชื่อมั่นลดลง ทำให้สภาพคล่องอยู่ในภาวะตึงตัว ทำให้บริษัท ต้องกู้เงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อเติมสภาพคล่อง จนในที่สุดไม่สามารถชำระหนี้ได้ ส่วนหนึ่งของเจ้าหนี้ คือ ผู้ฝากเงิน โดยภาครัฐให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินราว 20% ของเงินฝาก เท่ากับว่า ฝากเงินไว้ 1 หมื่นบาท ได้รับการคุ้มครอง 2,000 บาท และถ้าฝากเงิน 1 ล้านบาท ได้รับการคุ้มครอง 2 แสนบาท เป็นต้น เรียกว่า คุ้มครองทั้งคนจน และคนรวยเท่ากัน ที่ 20%



หลังจากนั้นระบบสถาบันการเงินของไทย รวมทั้งต่างประเทศ ก็ยังเผชิญปัญหาทางการเงินมาโดยตลอด จนถึงปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้สถาบันการเงิน 58 แห่งในประเทศไทย ถูกปิดทันที และกลับมาได้ภายหลังเพียงแค่ 2 แห่ง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมิน ณ ปี 2545 ว่า วิกฤตนี้มีมูลค่าความเสียหาย 2.5 ล้านล้านบาท โดยหักลบกับทรัพย์สิน ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้จัดการ ณ ขณะนั้น บริหารจัดการกลับมาได้ 1.1 ล้านล้านบาท เท่ากับสูญเสียกับวิกฤตนี้ไปราว 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งนำไปชำระบัญชี หรือ ชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินที่ล้มไปด้วย หนึ่งในเจ้าหนี้ก็คือ ผู้ฝากเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับชำระคืน 100% แต่แน่นอนรูปแบบนี้ เป็นภาระภาครัฐสูง



ทั้งหมดเป็นที่มาของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจัดตั้งขึ้น ในปี 2551 เริ่มดำเนินการวันแรก 11 ส.ค.2551 ทำหน้าที่บริหารจัดการ “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก”  โดยตามกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินฝาก และในปีแรกที่ดำเนินการ มีการคุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวน หรือ 100% เพื่อเป็น “เรียกความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์” และค่อยๆ ลดลงตามลำดับ 


แรกเริ่มเดิมที กำหนดคุ้มครองเงินฝาก 100% เพียงปีเดียว แล้วจะลดลงเป็นคุ้มครองไม่เกิน 100 ล้านบาท แต่เนื่องด้วย ขณะนั้น ไทยก็กลังเผชิญวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งก็เป็นปัญหาจากระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ กระทบไปยังตลาดการเงินทั่วโลก ทำรัฐบาล ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552 ให้ต้องขยายความคุ้มครองออกไป เป็นการคุ้มครองเต็มวงเงิน 3 ปี จนถึงปี 2553 และหลังจากนั้นมีการขยายระยะเวลาคุ้มครองมาต่อเนื่องรวมทั้งหมด 4 ฉบับ ทำให้ระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากค่อยๆ ลดลงมาตามลำดับ โดยในปี 2554-57 คุ้มครอง 50 ล้านบาท , ปี 58 คุ้มครอง 25 ล้านบาท , ปี 59-60 คุ้มครอง 15 ล้านบาท , ปี 61 คุ้มครอง 10 ล้านบาท , ปี 62-63 คุ้มครอง 5 ล้านบาท และ ณ วันที่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป จะมีการคุ้มครองเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายไม่มีการลดลงเงินเอาไว้อีกแล้ว 




นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยืนยันว่า การลดวงเงินคุ้มครอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 แต่อย่างใด และเป็นไปตามกฎหมายที่ให้ลดวงเงินคุ้มครองในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่า มีการทำแบบสอบถามสุ่มไปยังผู้ฝากเงิน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ต้องการความคุ้มครองที่ระดับ 1 ล้านบาท สอดคล้องกับบัญชีผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนทั้งสิ้น 82 ล้านราย หรือคิดเป็น 98% ของผู้ฝากทั้งหมดภายใต้ความคุ้มครองสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 83.72 ล้านราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความรู้เรื่องการเงิน ก็จะไม่เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก แต่จะนำไปลงทุน เพิ่มโอกาสให้กับตนเองมากกว่า 


รูปแบบนี้ คุ้มครอง 1 บัญชี ต่อ 1 สถาบันการเงิน หากมี 2 บัญชี เงินฝากบัญชีละ 1 ล้านบาท ในสถาบันการเงินเดียว จะคุ้มครอง 1 บัญชีเท่านั้น แต่ถ้าฝากต่างสถาบันการเงิน จะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งรูปแบบนี้ จะใช้เม็ดเงินในการคุ้มครองน้อยกว่า แต่ครอบคลุมผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน ต่อทั้งระบบสถาบันการเงิน และผู้ฝากเงิน 



นอกจากนี้ คุณทรงพล ยังยืนยันกับทีมรายการเศรษฐกิจ Insight ว่า สถานะกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ไม่ได้มีความเสี่ยงใดๆ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเม็ดเงินนำส่งของสถาบันการเงิน จำนวน 0.01% ของจำนวนเงินฝากทั้งระบบที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และผลตอบแทนจากการลงทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำให้เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบันอยู่ที่กว่า 1.3 แสนล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564  


แต่ถ้าจะดูทั้งกระบวนการของเงินฝากเรา เมื่อเราฝากเงิน ไปยังสถาบันการเงินภายใต้กำกับของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เดิมสถาบันการเงิน มีหน้าที่นำส่งเงิน 0.47% ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด แบ่งเป็น 0.46% ไป กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปชำระหนี้ในระบบสถาบันการเงินในอดีต และ 0.01% เข้ามาที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อทำภารกิจคุ้มครองเงินฝาก สร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงิน ก่อนที่ปี 2563-64 ธนาคารแห่งประเทศไทย ลดเงินนำส่งของสถาบันการเงิน เหลือ 0.23% 



หากสถาบันการเงินล้ม ผู้ฝากเงินยังมีโอกาสได้รับเงินฝากเต็มจำนวน แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน 3 ขั้นตอนหลักๆ ที่ทีมงานรวบรวมมาให้ คือ 1. เมื่อสถาบันการเงินล้ม ต้องส่งทรัพย์สิน และเอกสารต่างๆ ทั้งหมดให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ภายใน 7 วัน 


2. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะกลายเป็นผู้ชำระบัญชี หรือ เป็นผู้จ่ายเงินคืนให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ผู้ฝากเงินโดยอัตโนมัติ หรือ ผู้ฝากไม่ต้องประสานเรื่องไปยังสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะดำเนินการโอนเงิน เข้าบัญชีพร้อมเพย์สำหรับผู้ฝากเงิน ภายใน 30 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท จ่ายเต็มจำนวน และกลุ่มที่เงินฝากเกิน 1 ล้านบาท จ่าย 1 ล้านบาทก่อนในรอบนี้ 


หลังจากนั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเข้าไปจัดการขายทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ล้มละลาย และดำเนินงานจ่ายให้ผู้ฝากเงินเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับเงินฝากครบ 100% แต่ต้องยอมรับว่า ต้องใช้เวลานานกว่าจะดำเนินการขายได้ และมีโอกาสไม่มากที่จะได้รับเงินฝากครบ 100% 




คำถามต่อไป คือ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่สถาบันการเงินของไทย จะล้มเหมือนปี 40 ต้องบอกว่า ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลสนับสนุนว่า ปัจจุบัน สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ของไทย แข็งแกร่ง เพราะเมื่อดูสถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยรวมธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทยและสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ พบว่า มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมสูงถึง 20.12% ไม่เพียงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมาณ 11-12% แต่สูงกว่าระบบสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหภาพยุโรป ที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.34% และสหรัฐฯ อยู่ที่ 16.43% ส่วนกลุ่มที่ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง สูงกว่าไทย คือ สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 21.3%  


อีกตัวเลขหนึ่ง ที่เอาไว้ดูความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงิน คือ “อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต” หรือ เรียกง่ายๆ ว่าสภาพคล่อง เกณฑ์ขั้นต่ำที่ควรจะมี คือ 100% แต่ในระบบสถาบันการเงินของไทย มี 195.14% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำเกือบเท่าตัว แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างนี้ 


ขณะที่ ข้อมูลของสถาบันการเงินกลุ่มสภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ต้องบอกว่ามีสภาพคล่องน้อยกว่าสถาบันการเงินในประเทศไทย เมื่อเทียบข้อมูลล่าสุด ณ มี.ค.64 ที่ผ่านมา แต่ข้อมูลของประเทศไทย คือ เดือน พ.ค.64 ที่ผ่านมา ประกอบกับไทยยังมีเกณฑ์การผ่อนปรนจากทางการ อาทิ ความยืดหยุ่นในการจัดชั้นหนี้ และการกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงถึง 1.49 เท่าของเอ็นพีแอล ดังนั้น จึงทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนได้ 



สำหรับ สถาบันการเงิน จะได้รับความคุ้มครองเงินฝาก จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมทั้งหมด 35 แห่ง แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่ง , สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง , บริษัทเงินทุน 2 แห่ง , และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง โดยรายชื่อสถาบันการเงิน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ dpa.or.th 




แล้ว ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ชนิดไหนล่ะ ที่จะได้รับการคุ้มครอง แน่นอนในตลาดมีหลากหลายผลิตภัณฑ์เงินฝากมาก เพื่อจูงใจผู้ฝากเงิน แต่ 5 ประเภท เท่านั้น ที่จะได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน 


ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ไม่คุ้มครอง เช่น เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ,เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF) ,เงินฝากในสหกรณ์ ,แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน ,เงินอิเล็กทรอนิกส์ , ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน เป็นต้น 


ส่วนแบงก์รัฐ จะมีหลักๆ ออมสิน ,ธอส. ,ธกส. และธนาคารอิสลาม มีรายงานว่าคุ้มครอง 100% แต่จะมีการแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมภายในสัปดาห์นี้ 


ทั้งหมดคือ ภารกิจของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งต่อยอดมาถึงการกำเนิดของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จากวิกฤตแรกมาจนถึงวันนี้ สถาบันการเงินไทย ถ้าดูจากตัวเลข และข้อมูลจากนายแบงก์ ไทยยังคงแข็งแกร่ง และไม่ล้มง่ายๆ ขณะที่กฎระเบียบด้านการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นก็จำเป็นน้อยลง และปรับลดลงให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการฝากเงินของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย 


สิ่งที่จำเป็นต้องบอกอีกอย่างหนึ่ง คือ เงินฝาก แม้จะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงหลงเหลือ เหมือนเช่นการลงทุนรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0.25% 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง