เปิดตัวรถถัง AbramsX ว่าที่รถถังแห่งอนาคตของกองทัพสหรัฐฯ
หากพูดถึงรถถังที่เป็นเรือธง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่ารถถังหลัก (Main Battle Tank: MBT) จะต้องมีชื่อของเอ็มวัน เอบรามส์ (M1 Abrams) รถถังในตำนานที่มีชื่อเสียงที่สุดของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ออกแบบมาตั้งแต่ยุค 70 ผ่านสมรภูมิทั่วโลกมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะทรงพลังเหนือกาลเวลาแค่ไหน แต่โลกยุคใหม่นั้นบีบให้วัตถุประสงค์การใช้งานรถถังหลักเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ทางกองทัพและผู้ผลิตอย่างเจเนอรัล ไดนามิกส์ (General Dynamics) จึงได้เปิดตัวเอบรามส์ เอ็กซ์ (AbramsX) ว่าที่รถถังแห่งอนาคตเมื่อ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา
รถถังส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์พละกำลังสูง ซึ่งทรงพลังอย่างมาก แต่ก็แลกมาด้วยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่สูงมากตามไปด้วยเช่นกัน เช่น เลโอพาร์ด 2 (Leopard 2) ของเยอรมนี ที 14 อาร์มาตา (T-14 Armata) ของรัสเซีย ส่วนเอ็มวัน เอบรามส์ (M1 Abrams) นั้นเป็นเครื่องยนต์ดีเซลแก๊สเทอร์ไบน์ (Gas Turbine) ที่ทรงพลังมากเป็นพิเศษ ดังนั้นในการเปิดตัวเอบรามส์ เอ็กซ์ (AbramsX) ทางผู้ผลิตกล่าวว่าเครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้จะใช้เครื่องยนต์ไฮบริดระหว่างน้ำมันดีเซลกับไฟฟ้า หรือในอีกความหมายก็คือรถถังหลักรุ่นใหม่นี้จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงไปร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า และยังให้ความเงียบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเสียงเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์แบบเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการอำพรางตัวได้เป็นอย่างดี
ทางเจเนอรัล ไดนามิกส์ แลนด์ ซิสเท็มส์ (General Dynamics Land Systems) ผู้พัฒนาเอบรามส์ เอ็กซ์ (AbramsX) ยังกล่าวอีกด้วยว่ารถถังหลักรุ่นใหม่จะลดการพึ่งพาพลขับและพลประจำรถถังลงด้วยการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ในการเสริมประสิทธิภาพการเคลื่อนตัว การรักษาสภาพการรบ ตลอดจนการใช้งานเป็นรถถังแบบไร้คนขับที่ประสานการทำงานกับอากาศยานหรืออาวุธอื่น ๆ (Manned-Unmanned Teaming: MUM-T) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางผู้ผลิตและกองทัพยังไม่ได้มีการแถลงข่าวแจ้งถึงการนำไปใช้งานจริงแต่อย่างใด โดยเป็นเพียงการแถลงข่าวในลักษณะการเปิดตัวรถถังต้นแบบภายในงานจัดแสดงอาวุธภายในประเทศเท่านั้น แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาต้องการให้รถถังของตนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ หลังจากปรับปรุงรถถังหลักของกองทัพอย่างเอ็มวันเอทู เอบรามส์ (M1A2 Abrams) มาหลายครั้งมาตลอด 40 ปี โดยใช้ชื่อรุ่นย่อยอย่าง SEPv3 กับ SEPv4 แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการยกระดับขีดความสามารถการรบในอนาคต
ที่มาข้อมูล Defence-Blog
ที่มารูปภาพ General Dynamics Land Systems