รีเซต

สธ.เปิดผลวิจัยประสิทธิภาพ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ลดอาการป่วยโควิดรุนแรง 79%

สธ.เปิดผลวิจัยประสิทธิภาพ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ลดอาการป่วยโควิดรุนแรง 79%
TNN ช่อง16
19 มีนาคม 2565 ( 16:41 )
160

วันนี้ (19 มี.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของศูนย์วิจัยทางคลินิกศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ สถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โดยการศึกษาวิจัยได้ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 62 คน ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามสูตรมาตรฐาน จำนวน 1800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในวันที่ 1  และต่อด้วยขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา 

ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 คน ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวีย ซึ่งผลการศึกษา พบว่าภายในระยะเวลา 14 วัน กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีการอาการดีขึ้น ร้อยละ 79 ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพาราเวียร์ มีอาการดีขึ้นร้อยละ 32.3 จึงสรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ติดต่อกันนาน 4 วัน ช่วยทำให้อาการดีขึ้น และมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา 


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3% แล้วกลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้และรูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิฯ แก่ผู้อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ

“ที่สำคัญที่ผ่านมาเรารักษาด้วยยาฟาวิฯ กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว จึงขอยืนยันขอให้เชื่อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เราเคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับโอกาส บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจเสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงประสิทธิภาพการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้การรักษาโควิด19 มีการติดตามข้อมูล มีการปรับแนวทางการรักษาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีการใช้มา 2 ปี โดยช่วงแรกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ โดยกลไลการออกฤทธิ์ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส 

ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป โดยจากการทบทวนอย่างเป็นระบบข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิฯ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิฯ โดยเฉพาะใน 14 วันสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9 % ขณะเดียวกันยังติดตามอาการใช้ยาอื่นๆ อย่าง Remdisivir มีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจริงๆช่วงเริ่มต้น 

ทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้รับรอง กระทั่งมีการใช้ระยะหนึ่งทาง US FDA จึงได้ให้การรับรองใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาในภาวะฉุกเฉินโดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์กับคนไข้ที่ทานยาไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึมและใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อศึกษาวิจัย พบว่าผุ้ป่วยมีอาการลดลง นอนรพ.ลดลง โดยพบนอนรพ. 10 วัน ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกนอนรพ. 15 วัน

สำหรับยาตัวที่ 3 เป็นยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจาย หลังได้รับการอนุมัติจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขและศบค. ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน และลดความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มก. คือ แคปซูลขนาด 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ซึ่งยาตัวนี้ต้องให้ภายใน 5 วันหลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการ

ยาตัวที่ 4 คือ ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จะออกที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ โดยยาตัวนี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ Nirmatrelvir และRitonnavir ทำให้ลดความเสี่ยง 88 เปอร์เซนต์ กรณีให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ ที่สำคัญยาตัวนี้พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มีการสำรองยาตัวนี้ โดยกลางเดือนหน้าจะนำเข้า และกระจายในลำดับถัดไป

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการใช้ยามาระยะหนึ่ง จุดสำคัญพบว่า ยาแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อย่าง เรมเดซิเวียร์ เป็นยาช่วยในกลุ่มที่มีอาการปานกลาง สามารถให้ได้ทางหลอดเลือดดำ และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มมีปัญหาการดูดซึมหรือการทาน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยังมีประโยชน์ และให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ส่วนยา 2 ตัวที่เหลือเป็นยารับประทาน เป็นยาใหม่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร

ทั้งนี้ นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัย จุดสำคัญคือ ความพร้อมในการใช้ยา หรือการจัดหายา และราคายาต้องคำนึงภาพรวมด้วย ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการรักษา โดยมีการติดตามค่าใช้จ่ายในแต่ละราย ยกตัวอย่าง ยาฟาวิฯ กระบวนการรักษา 1 คอร์สประมาณ 800 บาท

ส่วนเรมเดซิเวียร์อยู่ที่1,512 บาท ส่วนยาใหม่ 2 ตัว ทั้งโมลนูพิราวียร์ และแพกซ์โลวิด ณ ปัจจุบันยังอยู่ที่คอร์สละประมาณ 10,000 บาท

“การได้มาของแนวทางการรักษา จะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งมีการประชุมของผู้เชี่ยวชาญตลอด โดยล่าสุดมีการปรับปรุงไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 แต่ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุม และอาจมีการปรับปรุงแนวทางการรักษา ซึ่งมีการจำแนกความรุนแรงของโรค ยาตัวเลือกที่มีให้ใช้ การรักษาตามอาการ รวมทั้งฟ้าทะลายโจร”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากโครงการ “เจอ แจก จบ” ก็มีการใช้ยา 3 สูตรโดยทั้งการรักษาตามอาการพบสัดส่วน 52% ส่วนการใช้ยาฟ้าทะลายโจร 24% และการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 26% ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลจากเขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 5 และเขตสุขภาพที่ 6 ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขทำงานกันเป็นทีม มีการติดตามประเมินการติดเชื้อ การใช้ยา ประสิทธิภาพต่างๆอย่างต่อเนื่อง


ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม , แถลงข่าวกรมควบคุมโรค


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง